วันเยาวชนแห่งชาติ

วันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายน

ประวัติความเป็นมาวันเยาวชนแห่งชาติ

วันเยาวชนแห่งชาติได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2528 เป็นปีเยาวชนสากล ดังนั้น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 และพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์

เยาวชน หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 – 25 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2528 เยาวชนของชาติ ได้รับการส่งเสริม และพัฒนาให้สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองพัฒนาชุมชนและพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมให้เยาวชนที่กระจายกันทั่วประเทศ ได้ตระหนักว่าเยาวชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง โดยเริ่มจากการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีค่านิยมที่ถูกต้อง ภูมิใจและหวงแหนและอนุรักษ์ไว้ซึ่งความเป็นไทย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รู้จักการอดออมและประหยัดรวมทั้งการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากหน่วยงานของรัฐแล้ว หน่วยงานภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เยาวชนของชาติเป็นทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพ และสถาบันทีมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนา คือ สถาบันครอบครัว ซึ่งหากผู้ปกครองมีความเข้าใจ เอาใจใส่ ดูแล ทนุถนอม ให้ความรักความอบอุ่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความปกครองอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะมีส่วนเป็นอย่างมากในการที่จะนำพาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม ซึ่งจะพาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า

เป้าหมายของวันเยาวชนแห่งชาติ มี 3 ประการ คือ

1. เพื่อให้เยาวชนช่วงอายุ 15 – 25 ปี ได้ตระหนักนึกความสำคัญในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ

2. เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อประเทศชาติทั้งในด้านคุณภาพคุณธรรม

3. เพื่อให้นโยบายส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องสัมฤทธิ์ผล

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเยาวชนแห่งชาติ

1. จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความสำคัญ หน้าที่ ของเยาวชนเพื่อให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักและเข้าใจ

2. ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมสาธารณประโยชน์กิจการเพื่อการกุศล กิจกรรมในชุมชน ฯลฯ

คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล โดยใช้คำขวัญ “Participation, Development and Peace” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ และมอบคำขวัญที่ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” ซึ่งมีความหมายละเอียดลึกซึ้งต่อเยาวชนทุกคน สามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติดังนี้

ร่วมแรงแข็งขัน (participation) หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส ได้ใช้โอกาสและพึงพอใจที่ได้ใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่าโดยไม่ตกเป็น เครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ นั้น เป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติที่สำคัญ

ช่วยกันพัฒนา (development) การพัฒนานั้นมองได้ 2 มิติ มิติหนึ่งคือ การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล และอีกมินิหนึ่งคือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญ และอีกมิติหนึ่งคือการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและ ประเทศชาติ ขณะเดียวกัน การพัฒนาสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วย กระบวนการพัฒนา 2 ส่วนนี้ จึงมีความต่อเนื่อง สัมพันธ์กัน และในสภาวะปัจจุบัน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ จะมีผลอย่างสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ

ใฝ่หาสันติ (peace) สันติภาพเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพ เป็นความต้องการของสากลโลก ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและดำรงคงไว้ คนหนุ่มสาวจึงต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ ผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วยสันติ และสร้างสำนึกสันติภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความอดกลั้น ความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพพื้นฐาน

เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ

ความเป็นมาของเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ

ในปี พ.ศ.2517 สำนักเยาวชนแห่งชาติ ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารและประสานงานเยาวชนแห่งชาติว่า เพื่อประสิทธิภาพและความมั่นคงในการดำเนินงานเยาวชนแห่งชาติ สมควรที่ขอรับพระราชทาน “เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ผูกพันพลังน้ำใจ และเป็นเครื่องยึดมั่นสักการบูชาร่วมกันของบรรดาเยาวชน กลุ่มเยาวชน และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน จึงได้เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งสำนักพระราชเลขาธิการได้นำความกาบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระ บาท แล้ไม่ทรงขัดข้อง จึงมีพระบรมราชานุญาตให้นำพระมหาพิชัยมงกุฎประดับบนส่วนยอดเครื่องหมายเยวชน แห่งชาติ

ความหมายเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ

เครื่องหมายเยาวชนนี้ได้รับพระราชทาน และพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระมหาพิชัยมงกุฎบนส่วนยอดของเครื่องหมาย เพื่อเป็นมิ่งขวัญ กำลังใจ และศิริมงคลแก่ชีวิตของเยาวชน รูปลักษณะของเครื่องหมายนี้เป็นรูปโล่สีธงชาติ มีอักษรคำว่า “เยาวชน” สีขาวอยู่ในวงกลมพื้นสีเขียว เบื้องบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มีรัศมีอุณาโลม เบื้องล่างมีอักษรสีแดงว่า พลังพัฒนาชาติ รองรับด้วยรวงข้าว 9 รวง แยกอยู่ทางด้านขวา 5 รวง ด้านซ้าย 4 รวง ซึ่งสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้อธิบายได้ดังนี้คือ

1. พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ องค์ประมุขสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นที่เคารพ สักการะ และเป็นจุดรวมน้ำใจของคนทั้งประเทศ

2. รัศมีที่พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งหมายความว่า เยาวชนไทยนั้นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือได้รับพระบารมีปกเกล้าฯ

3. อุณาโลม หมายถึง หว่างพระขนงของพระพุทธเจ้า ใช้เป็นเครื่องหมายแทนศาสนา

4. อักษรเยาวชนสีขาวในพื้นวงกลมสีเขียวรูปโล่สีธงชาติ หมายถึง พลังอันบริสุทธิ์แห่งความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเยาวชนไทย อันจะนำไปสู่ความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาการกสิกรรม อันเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

5. รวงข้าวทั้ง 9 รวง มีความหมายถึง เป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนทั้ง 9 ประการ ตามนโยบายเยาวชนแห่งชาติ โดยที่รวงข้าวหมายถึง ความเติบโตงอกงาม ฉะนั้น คุณลักษณะ 9 ประการที่จะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชน จึงเปรียบเสมือนคุณสมบัติที่จะงอดงามขึ้นตามตัวเยาวชน

6. อักษรว่า พลัง พัฒนาชาติ เป็นคำขวัญ เพื่อเตือนใจเยาวชนให้ตระหนักว่า พวกเขานั้นมีพลังบริสุทธิ์อันหนักแน่น จริงจัง ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากในการช่วยพัฒนาประเทศชาติ

นโยบายเยาวชนแห่งชาติ

1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันครอบครัวมีบทบาทหลักในการอบรมเลี้ยงดูเยาวชน ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่

2. สนับสนุนให้องค์กรสำคัญอื่น ๆ ของสังคม เช่นสถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันวิชาชีพ สถาบันการเมืองการปกครองทุกระดับ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การภาคเอกชน และสถาบันสื่อมวลชนมีบทบาท และประสานร่วมมืออย่างจริงจังและต่อเนื่องในกระบวนการพัฒนาและในการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตของเยาวชนอย่างสร้างสรรค์

3. สนับสนุนให้บริการแก่เยาวชนทั้งภาคราชการและนอกภาคราชการได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ ทำงานอย่างโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

4. สนับสนุนการออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเยาวชน

5. สนับสนุนให้มีการติดตามและประเมินผลการพัฒนาเยาวชนโดยมีดัชนีชี้วัดอย่างเป็นระบบ

6. ส่งเสริมให้เยาวชนในแต่ละวัย ได้รับบริการตามสิทธิและความต้องการพื้นฐานตามมาตรฐานสากลทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ

7. สนับสนุนให้เยาวชนรู้จักการวิเคราะห์ข้อมูล มีความคิด ความรับผิดชอบ และกล้าตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุผล คุณธรรม จริยธรรม ในกระบวนการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลง ได้อย่างมีความสุข

8. สนับสนุนให้เยาวชนสามารถใช้ความรู้ด้านวิทยาการสมัยใหม่บนพื้นฐานภูมิปัญญา หลักธรรมทางศาสนาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพ

9. สนับสนุนให้เยาวชนแต่ละวัย มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสังคมอย่างสร้างสรรค์ในกิจการของชุมชน และการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศ

ข้อมูล dmc.tv