เทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจ

คำว่า “เจ” ในภาษาจีนมีความหมายทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่า “อุโบสถ” คำว่า “กินเจ” ตามความหมายที่แท้จริงคือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน ดังเช่นที่ชาวพุทธในประเทศไทยถือ “อุโบสถศีล” หรือ “รักษาศีล 8” จะไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีล ของชาวพุทธฝ่ายมหายานไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมเรียก “การไม่กินเนื้อสัตว์” ไปรวมกันคำว่า “กินเจ” ซึ่งเป็นการถือศีลไปด้วย ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า “กินเจ” ฉะนั้นความหมายก็คือ “คนกินเจ” มิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่คนที่กินเจ ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์สะอาด งดงามทั้งกาย วาจา ใจ เป็นการถือศีลบำเพ็ญธรรมไปด้วยพร้อมกัน เช่นนี้แล้วจึงจะเรียกว่า “กินเจที่แท้จริง” ดังนั้น คำคล้องจองที่เราได้ยินอยู่เสมอ คือ “ถือศีลกินเจ” จึงนับว่ามีความหมายสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่ในตัวเองแล้ว

ตามร้านขาย “อาหารเจ” เราจะพบเห็นตัวอักษร คำนี้อ่าน “ไจ” (เจ) แปลว่า “ไม่มีของคาว” เขียนด้วยสีแดงบนพื้นสีเหลืองเสมอ ในช่วงเทศกาลกินเจเดือน 9 จะเห็นตัวอักษรนี้เขียนบนธงสีเหลือง ปักอยู่ตามแผงขายอาหารเจมองเห็นเป็นที่สะดุดตาแก่คนทั่วไป ชาวจีนถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งสิริมงคลแก่ชีวิต สีเหลืองเป็นสีของผู้ทรงศีล ดังนั้นผู้ตั้งใจถือศีลบำเพ็ญตนให้บริสุทธิ์ ตัวอักษรนี้ย่อมเป็นเครื่องหมายเตือนสติให้ระลึกไว้เสอมว่า “การกินเจงดเว้นเนื้อสัตว์ของคาวคือ การปฏิบัติธรรม รักษาศีลของความเป็นมนุษย์ เป็นการเจริญมหาเมตตากรุณาธรรมโดยแท้ อันจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และก่อให้เกิดสันติสุขแก่ทุกชีวิตบนโลก”

การกินเจ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง การถือศีลอย่างญวนและจีนที่ไม่กินของสดคาว แต่บริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม ซึ่งมาจากรากศัพท์คำภาษาจีนที่ว่า “เจียฉ่าย” หมายถึง การกินอาหารผัก อาหารที่มาจากพืชผักธรรมชาติ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และไม่ปรุงด้วยผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ และงดเว้นน้ำนมสด นมข้นด้วย เพราะถือว่าเป็นของสดของคาว

ช่วงเวลากินเจ

ประเพณีกินเจที่ชาวจีนเรียกกันว่า “เก้าอ๊วงเจ” หรือ “กิ้วอ๊วงเจ” แปลว่า “เจเดือน 9” เริ่มต้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน รวม 9 วัน 9 คืน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย (ตามปฏิทินสากล)

คำว่า “เก้าอ๊วง” หรือ “กิ้วอ๊วง” แปลว่า “พระราชา 9 องค์” หรือนพราชา หมายถึงผู้เป็นใหญ่ทั้ง 9 ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีกินผักกินเจ

ที่มาของเทศกาลกินเจ

เทศกาลเจ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว ตามตำนานเล่าว่า เกิดมาในสมัยที่ชาวจีนถูกรุกรานโดยชนชาติแมนจู ซึ่งเข้าปกครองประเทศจีน และบังคับให้ชนชาติจีนยอมรับวัฒนธรรมของตน อาทิ การไว้ทรงผมเยี่ยงแมนจู คือ โกนศีรษะโล้นทางด้านหน้าและไว้ผมยาวทางด้านหลัง ซึ่งหลายคนคงจะชินตาในภาพยนตร์จีนที่นำมาฉายทางทีวี

ในสมัยนั้น มีคนจีนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันต่อต้านชาวแมนจู โดยใช้หลักทางธรรมเข้ามาร่วมด้วย ชาวจีนกลุ่มนี้ นุ่งขาว ห่มขาวและไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งมีความเชื่อว่า การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง ให้กับกลุ่มของตนจนสามารถต้านทานชาวแมนจูได้ คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “หงี่หั่วท้วง” ซึ่งแม้จะได้ต่อสู้อย่างอาจหาญ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานการรุกรานของชาวแมนจูได้

เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ “หงี่หั่วท้วง” ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น

ความเชื่อถืออีกกระแสหนึ่งของตำนานการกินเจนั้น เชื่อกันว่าเป็นการสักการะพระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ในพิธีกรรมนี้ สาธุชนจึงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต หันมาบำเพ็ญศีล โดยการตั้งปณิธานในการกินเจ งดเว้นอาหารคาว เพื่อเป็นการสมาทานศีล 2 ประการ คือ

1. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาบำรุงชีวิตของตน
2. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเลือดของตน
3. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเนื้อของตน

สำหรับเมืองไทยความเชื่อเรื่องการกินเจ เป็นไปในแนวทางของการละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์ เพื่อเป็นสักการะบูชาแก่ พระพุทธเจ้า และมหาโพธิสัตว์กวนอิม อาจเนื่องจากการแพร่หลายของกการละเว้นการกินเนื้อวัว ในกลุ่มคนที่นับถือ “เจ้าแม่กวนอิม” การกินเจ จึงเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมเพื่อสักการะ

ตำนานที่มาของการกินเจ มีเรื่องเล่าอยู่ถึง 7 เรื่องได้แก่

ตำนานที่ 1 รำลึกถึงวีรชนทั้ง 9

เทศกาลกินเจเริ่มขึ้นเมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว โดยชาวจีนกินเจเป็นการบำเพ็ญกุศลเพื่อรำลึกถึงวีรชน 9 คน ซึ่งเรียกว่า “หงี่หั่วท้วง” ซึ่งได้ต่อสู้กับชาวแมนจูผู้รุกรานอย่างกล้าหาญ ถึงแม้จะแพ้และต้องตายก็ตาม ดังนั้นเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ “หงี่หั่วท้วง” ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น เพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชำระจิตวิญญาณเกิดความเข้มแข็งทางร่างกาย และจิตใจ

ตำนานที่ 2 บูชาพระพุทธเจ้า

เชื่อว่า เป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า “ดาวนพเคราะห์” ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ในพิธีกรรมบูชานี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาจะสละเวลาทางโลกมาบำเพ็ญศีล งดเว้นเนื้อสัตว์ และแต่งกายด้วยชุดขาว

ตำนานที่ 3 เก้าอ๊องฝ่ายมหายาน

กล่าวไว้ว่า การกินเจเป็นพิธีปฏิบัติที่สืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ ดังมีในพระสูตร ปั๊กเต๊าโก๋ว ฮุดเชียวไจเอียงชั่วเมียวเกง กล่าวไว้คือ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ คือพระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์และพระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวร โพธิสัตว์ รวมเป็น 9 พระองค์ (หรือ “เก้าอ๊อง”)

ทรงตั้งปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งกายมาเป็นเทพเจ้า 9 พระองค์ด้วยกันคือ ไต้อวยเอี๊ยงเม้งทัมหลังไทแชกุน ไต้เจียกอิมเจ็งกื้อมึ้งงวนแชกุน ไต้กวนจิงหยิ้งลุกช้งเจงแชกุน ไต้ฮั่งเฮี่ยงเม้งม่งเคียกนิวแชกุน ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยบเจงกังแชกุน ไต้โพ้วปั๊กเก๊กบู๊เอียกกี่แชกุน ไต้เพียวเทียนกวนพัวกุงกวนแชกุน ไต้ตั่งเม้งงั่วคูแชกุน ฮุ้ยกวงไตเพียกแชกุน เทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ทรงอำนาจตบะอันเรืองฤทธิ์บริหารธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ทั่วทุกพิภพน้อยใหญ่สารทิศ

ตำนานที่ 4 พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้อง

เชื่อว่า การกินเจเป็นการบูชากษัตริย์เป๊ง กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้องซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ในขณะที่เสด็จไต้หวันโดยทางเรือ เมื่อมีพระชนนมายุได้ 9 พรรษา พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยนซึ่ง เป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้องเท่านั้น โดยชาวฮกเกี้ยนได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้นด้วยการอาศัยศาสนาบังหน้าการ เมือง ประเพณีนี้เข้ามาสู่เมืองไทยโดยชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพจากฮกเกี้ยนนำมาเผยแผ่ อีกทอดหนึ่ง

ตำนานที่ 5 เล่าเอี๋ย

เมื่อ 1,500 ปีก่อน ณ มณฑลกังไสซึ่งเป็นแดนแห่งความเจริญรุ่งเรือง ฮ่องเต้เมืองนี้มีพระราชโอรส 9 พระองค์ซึ่งเก่งทั้งบุ๋น บู๊ ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ ยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแคว้นก่งเลี้ยดที่มีอำนาจเข้มแข็ง และมีกองกำลังทหารที่เหนือกว่า ทั้งสองแคว้นทำศึกกันมาถึงครั้งที่ 4 แคว้นก่งเลี้ยดชนะโดยการทุ่มกองกำลังทหารที่มากกว่าหลายเท่าตัว โอบล้อมกองทัพพระราชโอรสทั้งเก้าไว้ทุกด้าน แต่กองทัพก่งเลี้ยดไม่สามารถบุกเข้าเมืองได้จึงถอยทัพกลับ จนวันหนึ่งชาวกังไสเกิดความแตกสามัคคีและเอาเปรียบกัน เทพยดาทราบว่า อีกไม่นานกังไสจะเกิดภัยพิบัติจึงหาผู้อาสาช่วย แต่ชาวบ้านจะพ้นภัยได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างผลบุญของตนเอง ดวงวิญญาณพระราชโอรสองค์โตรับอาสา และเพ่งญาณเห็นว่า ควรเริ่มที่บ้านเศรษฐีใจบุญลีฮั้วก่าย

คืนวันหนึ่งคนรับใช้แจ้งเศรษฐีลีฮั้วก่ายว่า มีขอทานโรคเรื้อนมาขอพบ เศรษฐีจึงมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเดินทาง แต่ขอทานไม่ไป และประกาศให้ชาวเมืองถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ผู้ใดทำตามภัยพิบัติจะหายไป เศรษฐีนำมาปฏิบัติก่อน และผู้อื่นจึงปฏิบัติตาม จนมีการจัดให้มีอุปรากรเป็นมหรสพในช่วงกินเจด้วย

เล่าเอี๋ยเกิดศรัทธาประเพณีกินเจของมณฑลกังไส จึงได้ศึกษาตำราการกินเจของ เศรษฐีลีฮั้วก่ายที่บันทึกไว้ แต่ได้ดัดแปลงพิธีกรรมบางอย่างให้รัดกุมยิ่งขึ้นและให้มีพิธียกอ๋องฮ่องเต้ (พิธีเชิญพระอิศวรมาเป็นประธานในการกินเจ)

ตำนานที่ 6 เล่าเซ็ง

มีชายขี้เมาคนหนึ่งชื่อ เล่าเซ็ง เข้าใจผิดว่า แม่ตนตายไปเพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร จนคืนหนึ่งแม่มาเข้าฝันว่า ตนตายไปได้รับความสุขมาก เพราะแม่กินแต่อาหารเจ และหากลูกต้องการพบให้ไปที่เขาโพถ้อซัว บนเกาะน่ำไฮ้ ครั้นถึงเทศกาลไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมที่เขาโพถ้อซัว เล่าเซ็งจึงขอตามเพื่อนบ้านไปไหว้พระโพธิสัตว์ด้วย โดยเพื่อนบ้านให้เล่าเซ็งสัญญาว่า จะไม่กินเหล้าและเนื้อสัตว์จึงยอมให้ไป แต่ระหว่างทางเล่าเซ็งผิดสัญญา เพื่อนบ้านจึงหนีไป โชคดีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งต้องการไปไหว้พระโพธิสัตว์เช่นกัน เขาจึงขอตามนางไปด้วย

เมื่อถึงเขาโพถ้อซัว ขณะที่เล่าเซ็งก้มลงกราบพระโพธิสัตว์อยู่นั้น เขาเห็นแม่ลอยอยู่เหนือกระถางธูป แต่คนอื่นมองไม่เห็น ขณะเขาเดินทางกลับ ได้เจอกับเด็กชายยืนร้องไห้อยู่ จึงเข้าไปถามไถ่จนทราบว่า เด็กคนนั้นเป็นลูกชายของเขากับภรรยาเก่าที่เลิกกันไปนานแล้ว เขาจึงพาไปอยู่ด้วย และต่อมาหญิงสาวที่นำทางเล่าเซ็งไปพบพระโพธิสัตว์ได้มาขออยู่ด้วย ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

หญิงสาวคนนั้นเป็นสาวบริสุทธิ์ มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม และถือศีลกินเจอยู่เป็นประจำ นางรู้ว่าใกล้ถึงวันตายของนางแล้ว จึงบอกเล่าเซ็ง เมื่อถึงวันนั้นนางแต่งตัวด้วยอาภรณ์ขาวสะอาด นั่งสักครู่แล้วก็สิ้นลม เล่าเซ็งเห็นการจากไปด้วยดีของนางคล้ายกับแม่ จึงเกิดศรัทธา ยกสมบัติให้ลูกชาย แล้วประพฤติตัวใหม่ เมื่อตายไปจะได้บังเกิดผลเช่นเดียวกับแม่ และหญิงสาว ประเพณีกินเจจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้น

ตำนานที่ 7 การกินเจที่ภูเก็ต

มีคณะงิ้วจากเมืองจีน มาเปิดการแสดงที่อำเภอกะทู้นานเป็นแรมปี บังเอิญช่วงนั้นเกิดโรคระบาดขึ้น คณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีกินเจ และสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อสะเดาะเคราะห์ หลังจากนั้นโรคระบาดก็หาย ชาวกะทู้เกิดความศรัทธาจึงปฏิบัติตาม หลังจากประกอบพิธีอยู่ประมาณ 2-3 ปี ก็มีผู้คนเลื่อมใสมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับอยากได้พิธีกินเจที่สมบูรณ์แบบตามประเพณีมณฑลกังไส ประเทศจีน จึงได้ส่งตัวแทนไปนำควันธูป (เหี่ยวเอี้ยน) จากกังไสให้ลอยมาถึงภูเก็ต โดยในการเดินทางกลับจะต้องคอยจุดธูปต่อกันมิให้ดับมอด ศาลเจ้ากะทู้จึงได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของพิธีกินเจในปัจจุบัน

สำหรับเมืองไทยความเชื่อเรื่องการกินเจ เป็นไปในแนวทางของการละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์ เพื่อเป็นสักการะบูชาแก่พระพุทธเจ้า และมหาโพธิสัตว์กวนอิม อาจเนื่องจากการแพร่หลายของการละเว้นการกินเนื้อวัว ในกลุ่มคนที่นับถือ “เจ้าแม่กวนอิม” การกินเจจึงเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมเพื่อสักการะ

ความหมายของธงเจ

อักษรแดง บนพื้นเหลือง เขียนว่า “ไจ” หรือ “เจ” มีความหมายว่า “ของไม่มีคาว” สีแดงเป็นตัวแทนของความเป็นสิริมงคลในชีวิต ส่วนสีเหลืองเป็นสีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล ธงเจนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของอาหารเจแล้ว ยังเป็นการเตือนให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตน “ถือศีล-กินเจ” ได้ตระหนักถึงการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์และการตั้งอยู่ในศีลตลอดช่วงระยะเวลา 9 วัน 9 คืน

การปฏิบัติตัวในช่วงเทศกาลกินเจ

เมื่อตั้งมั่นที่จะปฏิบัติศีลและกินเจ ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืนนี้แล้ว ก็ควรจะศึกษาข้อห้ามต่างๆ ที่บัญญัติไว้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัว โดยทั่วไปแล้วจะมีข้อปฏิบัติดังนี้

งดเว้นเนื้อสัตว์ หรือทำอันตรายต่อสัตว์
งด นม เนย หรือน้ำมันที่มาจากสัตว์
งดอาหารรสจัด หมายถึง อาหารรสเผ็ดมาก เค็มมาก หวานมาก เปรี้ยวมาก
งดผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด คือ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ รวมทั้งเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุน
รักษาศีล 5
รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ให้คงที่
ทำบุญ ทำทาน บางคนที่เคร่งอาจนุ่งขาว ห่มขาว

สำหรับคนที่กินเจอย่างเคร่งครัด นอกจากจะ “ถือศีลกินเจ” แล้วยังต้องเลือกผู้ปรุงอาหารเจที่กินเจด้วย เพื่อให้ “อาหารเจ” นั้นบริสุทธิ์จริงๆ บางคนจะมีการคัดแยกภาชนะที่บรรจุอาหารหรือใช้ปรุงอาหาร แยกจากที่ใช้ใส่อาหารที่มีเนื้อสัตว์อย่างเด็ดขาด และในบางแห่งอาจพบว่ามีการจุดตะเกียงเก้าดวง ไว้เป็นเวลา 9 วันตลอดระยะเวลาการกินเจ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุญคุณพ่อแม่ญาติพี่น้อง และเพื่อเป็นพุทธบูชา

ประเพณีกินเจจะจัด 9 วัน 9 คืน โดยแต่ละวันมีพิธีต่าง ๆ กันดังนี้

วันแรก แต่ละศาลเจ้าก็จะดูฤกษ์ยามว่า จะเชิญเจ้ามาเวลาไหน แต่ไม่เกินเที่ยงวัน โดยใช้ “ปวย” 2 อันเสี่ยงทายโดยการโยน 2 ครั้ง หาก 1 อันหงาย 1 อันคว่ำ แสดงว่า เจ้าทั้ง 9 ได้เสด็จลงมาแล้ว การกินเจจะเริ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่มักทานกันล่วงหน้าเพื่อล้างท้อง

ที่ภูเก็ตในตอนกลางคืนจะมีพิธียกเสา “โกเด้ง” ขึ้นที่หน้าศาลเจ้า หรืออ๊าม เพื่อใช้เป็นที่แขวนตะเกียงทั้ง 9 ดวง และอัญเชิญดวงวิญญาณของยกอ๋องฮ่องเต้ หรือ พระอิศวร และ กิวอ๋องไตเต หรือ ราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้ามาประทับ

เช้าวันที่สอง จะมีการจุดธูปขนาดใหญ่ ตั้งเครื่องเซ่นและเผาไม้หอม เพื่อบูชาเจ้าประจำอ๊าม

หลังพิธีการกินเจ หรือชาวภูเก็ตเรียก “การกินผัก” ผ่านไป 3 วัน จะถือว่าตัวเองมีความสะอาดแล้ว หรือเรียกว่า “เช้ง” ในตอนค่ำมีพิธีการเชิญเจ้าเข้าทรงอีก 2 องค์ คือ “ลำเต้า” เจ้าผู้สำรวจคนเกิด และ “ปักเต้า” เจ้าผู้สำรวจคนตาย และทำพิธี “ปั้งกุ้น” หรือพิธีปล่อยพระ หรือการจัดทหารของเจ้าไปรักษาศาลเจ้าทั้ง 5 ทิศ เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และภูตผีมาทำลายพิธี ความสนุกสนานเริ่มขึ้นตรงนี้ เมื่อการเชิญทหารเต็มไปด้วยร่างทรงของตัวละคร อาทิ เห้งเจีย บู๊สง เป็นต้น

วันที่สี่ เป็นวันที่คนส่วนใหญ่จะมาไหว้เจ้า วันนี้ศาลเจ้าต่าง ๆ จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน

วันที่เจ็ด จะเริ่มพิธีบูชาดาว เพื่อขอความเป็นสิริมงคล รักษาโรคภัยไข้เจ็บ เป็นอีกวันหนึ่งที่มีการไหว้เจ้า แต่วันนี้สำคัญกว่าวันที่สี่ เรียกว่า “ไหว้เจ้าใหญ่” ในวันนี้จะมีการซื้อเต่า, ปลาไหล, นก ฯลฯ มาไหว้ด้วย

วันที่แปด วันนี้จะมีการลอยกระทง คล้ายการลอยกระทงของคนไทย เพื่อขอบคุณเจ้าแม่คงคาที่ให้น้ำใช้ น้ำดื่ม และให้สิ่งไม่ดีลอยไปตามน้ำ นอกจากนี้ที่ภูเก็ตยังมีการจัดขบวนแห่อย่างมโหฬาร เพื่อนำเกี้ยวไปรับพระจำหลักที่สะพานหิน เป็นการระลึกถึงวันที่ควันธูปจากมณฑลกังไสมาถึงภูเก็ต ในขบวนแห่จะมีการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรง หรือ คนทรงเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จะเห็นภาพของการใช้ของมีคมต่าง ๆ ทิ่มแทงตามร่างกาย มีทั้งง้าว ลูกตุ้มเหล็กฟาดหน้าฟาดหลัง เอาขวานจามหลัง หรือเอาเหล็กแหลมทิ่มแทงร่างกาย หรือแทงลิ้น จนกระทั่งเฉือนลิ้นตัวเองออกมา โดยทรงเหล่านั้นอ้างว่าไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ ขณะเป็นร่างทรง ม้าทรงจะเดินเต้นไปทั่วเมือง ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อให้เจ้าไปโปรดและมีการจุดประทัดตลอดเส้นทาง ทั้งเกาะปกคลุมด้วยควันธูปและประทัด

วันที่เก้า ช่วงเช้าจะมีพิธีทำทาน หรือเรียกว่า “ซิโกว” เป็นการให้ทานแก่ผีไม่มีญาติ ตอนกลางคืนจะมีแห่มังกร, สิงโต, ขบวนของเด็กที่จัดเพื่อเป็นสีสัน

ขณะที่จังหวัดภูเก็ตจะมีพิธีศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธี “โก๊ยโห้ย” หรือพิธีลุยไฟสะเดาะเคราะห์ ม้าทรง หรือเจ้าจะเดินผ่านกองไฟ ที่มีถ่านร้อนแดงเป็นระยะทางกว่า 2 ฟุต และตามด้วยผู้ที่ถือศีลกินเจที่มีความมั่นใจว่าตัวเองสะอาดแล้ว ก็สามารถร่วมลุยไฟได้ด้วยเช่นกัน ในตอนกลางคืนจะมีพิธีปีนบันไดมีด สูงประมาณ 12 เมตร และจบลงที่ยามดึกของคืนวันที่ 9 จะมีการแห่พระไปส่งทะเลบริเวณสะพานหิน และนำเสาโกเต้งลง ดับโคมไฟทั้ง 9 เป็นเสร็จพิธีกินเจที่ภูเก็ต

วันที่สิบ เป็นวันส่งเจ้ากลับ

อาหารเจ

ปัจจุบันมีการยอมรับกันโดยทั่วไปถึงคุณค่าของ “อาหารเจ” เนื่องจากการรับประทานพืชผักในปริมาณที่มากกว่าปกติ งดเว้นเนื้อสัตว์ ทำให้กระเพาะได้พักจากภารกิจการย่อยเนื้อสัตว์ที่ทำประจำอยู่ และได้รับวิตามินเข้าไปเสริมสร้าง ซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งได้โปรตีนจากถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากโปรตีนที่เราได้รับจากเนื้อสัตว์ ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อนจากการรับสารอาหารย่อยยากจากแหล่งอาหารต่างๆ รวมทั้งยังได้รับพลังใจจากการที่ปฏิบัติตัวอยู่ในศีล ทำให้จิตใจอิ่มเอิบ เบาสบาย

หลายคนคิดว่า การรับประทานแต่อาหารเจจะทำให้เกิดโรคขาดอาหาร ทั้งที่สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคขาดอาหารนั้น มาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลัก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ที่กินเนื้อสัตว์และกินเจ ซึ่งมีนิสัยการบริโภคที่ไม่คำนึงถึงคุณค่าของสารอาหารที่ได้รับ

คนที่กินเจอย่างถูกหลักก็จะได้รับอาหารที่มีคุณค่า มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ การประกอบอาหารเจเพื่อรับประทานในช่วงนี้ จึงสามารถเลือกอาหารพวก ข้าวกล้อง (ใช้แทนข้าวขาว) โปรตีนเกษตร (แทนเนื้อสัตว์) ผักสด เห็ดหอม ถั่วนานาพันธุ์ เต้าหู้ แป้งหมี่กึง ทดแทน และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำเป็นอาหารชนิดต่างๆ

อานิสงส์ของการกินเจ

1.ด้านศีลธรรม ผุ้กินเจจะปฏิบัตตนอยู่ในศีลธรรมอันดี มีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนผู้อื่นนับเป็นบุญกุศลใหญ่หลวง

2.ด้านสุขภาพกาย ผู้กินเจจะมีสุขภาพกายดีเพราะไม่ดื่มของมึนเมา และไม่รับประทานเนื้อสัตว์ รวมทั้งอาหารประเภทไขมันสูง ทำให้ลดภาวะไขมันในเส้นเลือด ซึ่งมีอันตรายต่อชีวิต นอกจากนี้อาหารจากเนื้อสัตว์มักมีเชื้อโรคปะปน เสี่ยงต่อการเป็นโรคภัย ผุ้กินเจเป็นประจำจึมีอายุยืนนาน

3.ด้านสุขภาพจิต ผู้กินเจจะมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะผลจากการปฏิบัติธรรมที่ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ให้อภัยซึ่งกันและกัน และมีความเมตตาต่อกันทำให้จิตบริสุทธิ์แจ่มใสตลอดเวลา

4.ด้านเศรษฐกิจ ผู้กินเจสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะผักมักจะราคาไม่แพงเหมือนเนื้อสัตว์ทั่วๆไป

5.ด้านสังคม ผู้กินเจจะมีความสามัคคีกัน เกิดการร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

6.ด้านการเมือง เนื่องจากการกินเจ หรืออาหารจากพืชผัก ไม่มีกรกำหนดทางเชื้อชาติศาสนา จึงมีผู้เข้าร่วมพิธีกรรมอย่างมากมาย ประกอบกับปลูกฝังให้ผุ้เข้าร่วมพิธีมีควมสามัคคีจึงไม่ก่อห้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนบ้านเมืองสงบร่มเย็น ประชาชนอยู่กันอย่างประหยัด ภาวะเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นส่งผลให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

เจกับมังสวิรัติ
อาหารมังสวิรัติ คือ อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกับอาหารเจ แต่หากเป็นมังสวิรัตินั้น สามารถนำผักทุกชนิดมาประกอบอาหารได้ แต่อาหารเจ ต้องงดเว้นผักฉุน 5 ประเภท (ดังที่กล่าวมาแล้ว) รวมทั้งของเสพติดทุกชนิด และยังคงต้องประพฤติศีลร่วมด้วย จึงจะเป็นการ ถือศีล-กินเจ ที่แท้จริง ในขณะที่มังสวิรัติ หมายรวมถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น

การกินเจ นอกจากจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างบุญกุศลด้วยการละ เลิก เพื่อชีวิตแล้ว ในแง่ของสุขภาพร่างกายก็พลอยได้รับประโยชน์ร่วมด้วย เพราะถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ร่างกายมีโอกาสพักผ่อน จากการย่อยอาหารประเภทที่ย่อยยากทั้งหลาย

ความแตกต่างของ “เจ” กับ “มังสวิรัติ”

หลายคนอาจสงสัยว่า “กินเจ” ต่างกับ “กินมังสวิรัติ” อย่างไร เพราะอาหารมังสวิรัติก็เป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกัน แต่มังสวิรัติสามารถทานผักได้ทุกชนิด แต่ อาหารเจ ต้องเว้นผักฉุน 5 ประเภท คือ ผักชี กระเทียม หัวหอม (รวมทั้งหอมแดง หอมขาว หัวหอมใหญ่ ต้นหอม) หลักเกียว (กระเทียมโทนจีน ไม่ค่อยพบในประเทศไทย) กุยช่าย และใบยาสูบ รวมทั้งของเสพติดทุกชนิด และยังต้องประพฤติศีลร่วมด้วย จึงจะเป็นการถือศีลกินเจที่แท้จริง ขณะที่มังสวิรัติ หมายถึง การไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น

การกินเจตั้งมั่นอยู่บนหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ

1. การดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ไม่เอาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมาต่อเติมบำรุงเลี้ยงชีวิตของตน, ไม่เอาเลือดของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเลือดของตน และไม่เอาเนื้อของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเนื้อของตัวเอง

2.การดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนตนเอง คือ จะรับประทานสิ่งใดเข้าไปต้องไม่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมเท่ากับเป็นการเบียดเบียนตนเอง ดังนั้นจึงมีการห้ามของมึนเมา สารเสพติด ขณะที่วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ยืนยันว่า เลือดและเนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายเต็มไปด้วยพิษภัยมากมาย เนื้อสัตว์เหล่านี้จึงจัดเป็นพิษชนิดหนึ่งเช่นกัน การละเว้นจึงส่งผลดีต่อร่างกายอีกด้วย

กิน “เจ” ที่ภูเก็ต

“เจ” ที่ภูเก็ตมาจากรากฐานความเชื่อเดียวกัน คนจีนเรียก “เจเดือนเก้า” แต่ถ้านับตรงกับเดือนไทยก็จะได้ตรงกับเดือน 11 เทศกาลกินเจที่ภูเก็ตจึงมีขึ้นหลังเทศกาลกินเจทั่วๆ ไป บางครั้งเราจึงมักได้ยินเชื่อเรียกของเทศกาลกินเจที่ภูเก็ต ว่าเป็นเทศกาลกินผัก ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการกินเจในรูปแบบและระยะเวลา 9 วันเช่นเดียวกัน

ความเชื่อเกี่ยวกับการกินเจที่ชาวภูเก็ตเล่าสืบต่อกันมาว่า มีคณะงิ้วจากเมืองจีนมาเปิดการแสดงที่กะทู้ แล้วบังเอิญเกิดโรคระบาด คณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีกินเจ และสร้างศาลเจ้าขึ้น ปรากฏว่าโรคระบาดก็หายไปสิ้น ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสจึงปฏิบัติตาม นับเนื่องจากนั้นมีผู้ศรัทธามากขึ้นเรื่อยๆ ชาวกระทู้จึงอยากให้พิธี “กินเจ” ของตนสมบูรณ์แบบ ตามแบบพิธีในมณฑลกังไส จึงได้ส่งตัวแทนไปนำเอาควันธูปกลับมา โดยการตั้งมั่นที่แรงกล้า เพราะพิธีการนำควันธูปกลับมานั้น ต้องจุดธูปต่อกันมิให้มอดดับได้ ศาลเจ้ากระทู้จึงเป็นศูนย์กลางของเทศกาลการกินเจที่ภูเก็ตเรื่อยมา จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ

9 วันแห่งพิธีกรรมของการกินเจที่ภูเก็ต

ตอนบ่ายก่อนวันเริ่มกินผัก จะมีพิธียกเสา “โกเด้ง” ขึ้นที่หน้าศาลเจ้า หรืออ๊าม เพื่อใช้เป็นที่แขวนตะเกียงทั้ง 9 ดวง และอัญเชิญดวงวิญญาณของยกอ๋องฮ่องเต้ หรือ พระอิศวร และ กิวอ๋องไตเต หรือ ราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า ในตอนกลางคืนเพื่อมาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าหรือ อ๊าม

เช้าวันรุ่งขึ้นมีการจุดธูปขนาดใหญ่ ตั้งเครื่องเซ่นและเผาไม้หอม เพื่อบูชาเจ้าประจำอ๊าม

หลังพิธีการกินเจ หรือชาวภูเก็ตเรียก “การกินผัก” ผ่านไป 3 วัน จะถือว่าตัวเองมีความสะอาดแล้ว หรือเรียกว่า “เช้ง” (清)ในตอนค่ำมีพิธีการอันเชิญเทพเจ้าอีก 2 องค์ คือ “ลำเต้า” เจ้าผู้ถือบัญชีคนเกิด และ “ปักเต้า” เจ้าผู้ถือบัญชีคนตาย และทำพิธี “ปั้งกุ้น” หรือพิธีปล่อยพระ หรือการจัดทหารของเจ้าไปรักษาศาลเจ้าทั้ง 5 ทิศ เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และภูตผีมาทำลายพิธี ความสนุกสนานเริ่มขึ้นตรงนี้ เมื่อการเชิญทหารเต็มไปด้วยร่างทรงของตัวละคร อาทิ เห้งเจีย บู๊สง เป็นต้น

ในวันที่เจ็ด เริ่มพิธี บูชาดาว เพื่อขอความเป็นสิริมงคล รักษาโรคภัยไข้เจ็บ

สองวันสุดท้ายวันที่แปดและเก้า เป็นความตื่นเต้นท้าทาย เมื่อมีการจัดขบวนพิธีแห่อย่างมโหฬาร เพื่อนำเกี้ยวไปรับพระจำหลักที่สะพานหิน เป็นการระถึงวันที่ควันธูปจากมณฑลกังไสมาถึงภูเก็ต ในขบวนแห่จะมีการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรง หรือ คนทรงเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จะเห็นภาพของการใช้ของมีคมต่างๆ ทิ่มแทงตามร่างกาย มีทั้งง้าว ลูกตุ้มเหล็กฟาดหน้าฟาดหลัง เอาขวานจามหลัง หรือเอาเหล็กแหลมทิ่มแทงร่างกาย หรือแทงลิ้น จนกระทั่งเฉือนลิ้นตัวเองออกมา โดยท้าทรงเหล่านั้นอ้างว่าไม่มีความเจ็บปวดใดๆ ขณะเป็นร่างทรง ม้าทรงจะเดินเต้น ไปทั่วเมือง ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้เพื่อให้เจ้าไปโปรดและมีการจุดประทัดตลอดเส้นทาง ทั้งเกาะปกคลุมด้วยควันธูปและประทัด

วันที่เก้า จะมีพิธีศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธี “โก๊ยโห้ย” หรือพิธีลุยไฟสะเดาะเคราะห์ ม้าทรง หรือเจ้าจะเดินผ่านกองไฟ ที่มีถ่ายร้อนแดงเป็นระยะทางกว่า 2 ฟุต และตามด้วยผู้ที่ถือศีลกินเจที่มีความมั่นใจว่าตัวเองสะอาดแล้ว ก็สามารถร่วมลุยไฟได้ด้วยเช่นกัน ในตอนกลางคืนจะมีพิธีปีนบันไดมีด สูงประมาณ 12 เมตร และจบลงที่ยามดึกของคืนวันที่ 9 จะมีการแห่พระไปส่งทะเลบริเวณสะพานหิน และนำเสาโกเต้งลงดับโคมไฟทั้ง 9 เป็นเสร็จพิธีกินเจที่ภูเก็ต

กินเจ ที่ภูเก็ต ออกไปในแนวสนุกสนาน ตื่นเต้น ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ แต่หลายคนที่ไปดูด้วยตาตนเอง ยังพกความตื่นตาตื่นใจ เป็นประสบการณ์มาถึงปัจจุบัน และเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมการกินเจอีกรูปแบบหนึ่ง

การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ

1. งดเว้นเนื้อสัตว์ และทำอันตรายต่อสัตว์

2. งดนม เนย และน้ำมันที่มาจากสัตว์

3. งดอาหารรสจัด ทั้งอาหารเผ็ด หวานจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด

4. งดผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น ผักชี กระเทียม หัวหอม ต้นหอม หลักเกียว กุยช่าย รวมทั้งใบยาสูบ และของมึนเมาต่าง ๆ เพราะผักดังกล่าวนี้ เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นอกจากนี้ยังมีพิษคอยทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายใน ทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ

5. รักษาศีลห้า

6. ทำบุญทำทาน สำหรับคนที่เคร่งครัดจะนุ่งขาวห่มขาว

7. รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์

สำหรับผู้ที่เคร่งครัดมากๆ จะทานอาหารเฉพาะที่คนกินเจด้วยกันเป็นคนปรุงเท่านั้น รวมทั้งจะต้องล้างหม้อจนสะอาด แยกภาชนะสำหรับใส่เนื้อสัตว์ออก เพื่อปรุงอาหารเจเฉพาะ นอกจากนี้ยังจุดตะเกียงไว้ 9 ดวงตลอดช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน โดยไม่ปล่อยให้ดับ เพื่อเป็นพุทธบูชา และรำลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ญาติพี่น้อง ตลอดจนผู้ที่มีบุญคุณต่อผืนแผ่นดินเกิด

ประโยชน์ของการกินเจ

1. ร่างกายสามารถขับถ่ายของเสียออกได้หมดทำให้ ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ภายใน เพราะสารอาหารจากพืชผักและผลไม้จะช่วยให้ระบบขับถ่ายและการย่อยเป็นปกติ

2. เมื่อรับประทานเป็นประจำ โลหิตจะถูกฟอกให้สะอาดขึ้นเรื่อย ๆ เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายเสื่อมสลายช้าลง ทำให้อายุยืนยาวมีผิวพรรณสดชื่นผ่องใส ร่างกายแข็งแรงรู้สึกมีสุขภาพดี

3. อวัยวะหลักสำคัญภายใน ได้แก่ หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด และอวัยวะประกอบคือ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี แข็งแรงทำงานได้เป็นปกติสมบูรณ์

4. ร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษต่าง ๆ ได้แก่ สารเคมี ยาฆ่าแมลง มลภาวะ และก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในอุตสาหกรรม ไอเสียจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ ซึ่งสารอาหารในพืชผัก จะช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายสามารถทนต่อการทำลายจากรังสีต่าง ๆ ได้

5. สามารถต้านทานสารพิษได้สูงกว่าคนปกติ ในบรรดาผู้ที่ทานเจมักไม่ปรากฏโรครุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดตีบ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคไต ฯลฯ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย ย่อยอาหารและทางเดินอาหาร เช่น โรคริดสีดวงทวาร มะเร็งในกระเพาะและลำไส้ โรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย โรคเหล่านี้จะไม่พบเลยในกลุ่มคนผู้ที่รับประทานอาหารเจ อาหารพืชผักและผลไม้เป็นประจำ

6. การกินเจทำให้เกิดความเมตตา เกิดความสงบสุขุม อารมณ์ไม่ฉุนเฉียว ไม่โมโหง่าย ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลส่งเสริมให้บารมีธรรมสูงขึ้นเรื่อย ๆ

7. หยุดการสร้างบาป เวรกรรม ทำให้ไม่เกิดการอาฆาต พยาบาท จึงปราศจากศัตรูทั้งมนุษย์และสัตว์ที่คิดมุ่งทำร้ายตามจองเวร

10 ข้อห้ามในเทศกาลกินเจ

ข้อหนึ่ง การงดกินผักฉุนหรือผักที่มีกลิ่นแรง ซึ่งประกอบไปด้วยพืชผัก 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม (หัวกระเทียม, ต้นกระเทียม) หัวหอม (ต้นหอม, ใบหอม, หอมแดง,หอมขาว,หอมหัวใหญ่) หลักเกียว (ลักษณะคล้าย หัวกระเทียม แต่เล็กกว่า) กุ้ยช่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า) ใบยาสูบ (บุหรี่,ยาเส้น,ของเสพติดมึนเมา) ผักเหล่านี้เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นรุนแรง นอกจากนี้ยัง ให้โทษทำลายพลังธาตุในร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะหลัก สำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ สำหรับผู้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานไม่ควรรับประทาน พราะผักดังกล่าวมีฤทธิ์ กระตุ้นจิตใจและอารมณ์ให้เร่าร้อน ใจคอหงุดหงิด โกรธง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในร่างกายรวมตัวไม่ติด จิตใจจะไม่บริสุทธิ์ ซึ่งในข้อห้ามนี้มีบางคนยังข้องใจกันมาก คือ กระเทียมซึ่งทางการแพทย์และเภสัชกรพบว่า สามารถรับประทานเป็นยาได้ ทั้งนี้เพราะเป็นสารที่มีประโยชน์สามารถละลายไขมันในเส้นเลือดได้ เช่น ผู้ป่วยที่ เป็นโรคเส้นโลหิตเลี้ยงหัวใจตีบหรืออุดตัน เป็นต้น แม้ทางการแพทย์แผนโบราณก็ยืนยันตรงกันว่ากระเทียมเป็น สมุนไพรรักษาโรคได้ แต่คนจีนที่ปฏิบัติในการกินเจถือว่าให้โทณกับหัวใจ ซึ่งในข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อของ แต่ละคน

ข้อสอง การงดกินเนื้อสัตว์ ซึ่งประกอบไปด้วย เนื้อวัว หมู ปลา หรือสัตว์มีชีวิตที่ใช้เป็น อาหารได้ เพราะ คนจีนเชื่อว่าก่อนตายมันจะตกอยู่ในอาหารตกใจกลัวเมื่อเรากินมันเข้าไป อาจจะทำให้เรามีบาปติดตัวไปด้วย เพราะมันคือสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับคน ข้อนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่คนจีนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่มาถึงปัจจุบัน ……….บางคนเริ่มหาข้อคัดค้านว่าสัตว์บางชนิดอย่าง หอยหรือปลาเล็กๆ ก็น่าจะรับประทานได้เพราะมันเป็นสัตว์ไม่มีเลือด ตามความเชื่อแล้วมันขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ถ้าในความเป็นจริงแล้ว คนจีนเขาเชื่อว่าประเพณีนี้ศักดิ์สิทธิ์ถ้าปฏิบัติ ให่เคร่งครัด ถึงจะมีคนคัดค้านแต่กับข้อนี้คงไม่ได้ผล

ข้อสาม ไม่ควรกินอาหารรสจัด ซึ่งไม่ใช่แค่รสเผ็ดอย่างเดียว รวมไปถึงรสเค็มมาก หวานมากหรือเปรี้ยวมาก ด้วย ซึ่งปกติคนจีนจะไม่กินรสจัดอยู่แล้วเพราะถือว่าจะเข้าไปทำลายสุขภาพ อย่างกินเผ็ดจัดก็จะไปทำลาย กระเพาะ กินเค็มมากจะไปทำลายไตได้ และอีกอย่างน้ำปลาก็ทำมาจากสัตว์เหมือนกัน ข้อห้ามนี้ถือว่าถูกหลักของ การแพทย์ แต่บางคนที่ปฏิบัติไม่เคร่งครัดนัก เช่น ชอบรสเค็มจัดก็ใช้เกลือแทนน้ำปลา อันนี้ถือว่าไม่ผิด

ข้อสี่ ต้องกินอาหารที่คนกินเจด้วยกันปรุง ซึ่งข้อนี้ถ้าปฏิบัติได้จะถือว่าบริสุทธิ์จริงๆ แต่ถ้าทำให้เกิดความยาก ลำบากก็ไม่จำเป็น จะได้ไม่ต้องเลือกร้านกันจ้าละหวั่น ฉะนั้นคนที่ปรุงอาจจะไม่ได้กินเจก็ได้แต่ขอให้อาหารที่กินเข้า ไปเป็นอาหารเจก็พอ

ข้อห้า ถ้วยชามจะต้องไม่ปนกัน เพราะเขาถือเคร่งครัดว่าอาหารคาวซึ่งชาวจีนเรียกว่า ” ชอ ” นั้น ถ้วยชาม จะใช้ปนกันไม่ได้ จะถือว่าล้างสะอาดหมดจดแล้วจึงเอามาใช้ก็ผิดอีก บางคนคิดว่าล้างให้สะอาดมากๆ ก็ไม่จำเป็น ต้องแยก แต่ข้อนี้ถือว่าเป็นธรรมเนียมเหมือนอย่างอิสลามที่ไม่ยอม ใช้ถ้วยชามปนกัน เหมือนของจีนนั่นแหละ

ข้อหก ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ข้อนี้ตรงกับการรักษาศีลของชาวพุทธ การฆ่าสัตว์ของชาวจีนตั้งแต่สัตว์เล็กๆ ไป จนถึงสัตว์ใหญ่เป็นข้อเคร่งครัดเช่นกัน บางคนสงสัยอีกว่าอย่างถ้าเป็นยุงหรือมดฆ่าได้ไหมตามความเชื่อแล้วห้าม เด็ดขาดไม่เช่นนั้นจะถือว่า ปฏิบัติไม่ครบ

ข้อเจ็ด แต่งกายด้วยชุดขาว ข้อนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนก็ใส่ชุดสีขาวตลอดจนถึงออกเจเพราะเชื่อกัน ว่านอกจากงดอาหาร ต่างๆ ในร่างกายสะอาดแล้วภายนอกแม่จะเป็นเครื่องแต่งกายก็ต้องสะอาดด้วย ข้อนี้ไม่ใคร่ เข้มงวดสำหรับบุคคลที่ปฏิบัติอยู่กับบ้าน ไม่ได้ไปที่แจตั๊วหรือสถานที่ทำพิธีกินเจ

ข้อแปด พูดจาไพเราะ คนที่ถือศีลกินเจไม่ใช่เพียงแต่กินของสะอาดเท่านั้น แต่คำพูดที่พูดออก จากปากก็ต้อง สะอาดด้วย สิ่งไม่ดีทั้งหลายไมควรพูดหรือที่เรียกว่า ” ปากเจ ” ซึ่งประกอบไปด้วย ไม่พูดเท็จ ไม่พูดยุแหย่ ไม่พูด เพ้อเจ้อ ถ้าปฏิบัติได้ก็ถือว่าสะอาดทั้งหมด

ข้อเก้า งดดื่มสุราและของมึนเมา ตลอดช่วงเวลา 9 วัน ……….ข้อนี้สำคัญเพราะการงดอาหารที่เป็นของคาวแล้วสิ่ง ที่สร้างความมึนเมาหรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกายก็ห้ามเข้าสู่ร่างกายด้วย

ข้อสิบ ห้ามดับตะเกียงทั้ง 9 ดวง คนที่จะไปกินเจมักจะไปชุมนุมกันที่แจตั๊วหรือสถานที่กินเจ ณ ที่นั้น เขาจะประดับดอกไม้ตั้งโต๊ะบูชา วางกระถางธูปและตั้งเครื่องเจ ต่างๆ นอกจากนี้ ก็จุดโคม 9 ดวงเพื่อสมมติเป็น ” เก๊าฮ้วงฮุดโจ้ว ” นั่นเอง ซึ่งจะต้องจุดไว้ทั้งกลางวันและ กลางคืนจนตลอดงานทีเดียว ถ้าดับโคมไฟดวงใดดวงหนึ่ง ก็จะถือว่าไม่เป็นสิริมงคลและไม่ครบถ้วนพิธีการกินเจ

ข้อมูล sanook, kapook, teenee