วันการศึกษานอกโรงเรียน

การศึกษาเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต นอกจากการเรียนรู้หนังสืออันเป็นกุญแจสำคัญที่ไขเข้าสู่สรรพวิทยาการแล้ว การเรียนรู้ด้วยสื่อการเรียนอย่างอื่น และกระบวนการอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่นานัปการนั้น จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนให้ดีขึ้นได้ การศึกษานอกโรงเรียน เป็นการจัดการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสนองตอบความต้องการในการเรียนรู้ของประชาชนได้อย่างทั่วถึง จำเป็นต้องมีการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นมากกว่า สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้อย่างหลากหลายและทั่วถึง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนโดยทำให้การเรียนรู้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและแสวงหาได้โดยง่ายสำหรับคนทั่วไป

การศึกษานอกโรงเรียนได้นำปรัชญา “คิดเป็น” มาใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยมุ่งเน้นที่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคนให้มีความสุข ซึ่งบุคคลสามารถบรรลุถึงเป้าหมายได้ หากสามารถแก้ไขปัญหาและปรับตัวให้ประสานสมดุลกับสภาพแวดล้อม องค์การศึกษาวิทยาศาตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนด วันที่ 8 กันยายน ของทุกปีเป็น วัน International Literacy Day ตามมติของที่ประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากประเทศทั่วโลกว่าด้วยการไม่รู้หนังสือ เมื่อปี ค.ศ 1965 เพื่อระลึกถึงการรู้หนังสือสากล

ความเป็นมา
องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้กำหนดเอาวันที่ 8 กันยายนของทุกปี เป็นวัน International Literacy Day ตามมติของที่ประชุมของรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการจากประเทศทั่วโลก ว่าด้วยการขจัดการไม่รู้หนังสือ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเตหะราน เมื่อปี ค.ศ. 1965 เพื่อเป็นวันที่ระลึกการรู้หนังสือสากล และได้มีหนังสือเชิญชวนประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 เป็นต้นมา

สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันที่ระลึกการรู้หนังสือสากลนี้ มาตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือ โดยจัดขึ้นที่กองการศึกษาผู้ใหญ่และตามโรงเรียนผู้ใหญ่ทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 กองการศึกษาผู้ใหญ่ได้จัดนิทรรศการ “วันการศึกษาผู้ใหญ่แห่งชาติ” ขึ้น ณ หอสมุดแห่งชาติ และในปี พ.ศ. 2521 ได้จัดนิทรรศการ “วันการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษานอกระบบ” ขึ้น ณ บริเวณโรงละครแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาสมทบด้วย

ในปี พ.ศ. 2522 ได้มีการจัดนิทรรศการ “วันการศึกษานอกโรงเรียน” ขึ้น ณ บริเวณคุรุสภา ในปีนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ International Literacy Day จึงได้กลายมาเป็น “วันการศึกษานอกโรงเรียน” โดยเหตุที่การศึกษานอกโรงเรียนเป็นการศึกษาตลอดชีวิต และกระบวนการเรียนการสอนไม่จำกัดสถานที่ เวลา อายุ เพศ หรืออาชีพของผู้เรียน แต่เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระบบโรงเรียน

การจัดการศึกษานอกโรงเรียน
1. การสอนให้คนอ่านออกเขียนได้ เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่ โครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ โครงการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน และโครงการศึกษาต่อเนื่อง

2.การจัดที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดเคลื่อนที่ วิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์

3.การสอนวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น โครงการฝึกอบรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายด้านวิชาชีพ และให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

ในวันการศึกษานอกโรงเรียนได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการรู้หนังสือและการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งส่วนตนและส่วนรวมให้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยให้ประชาชนได้รับรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับการให้บริการของกรมการศึกษานอกโรงเรียนอีกด้วย