วันตรุษจีน

วันตรุษจีน

วันตรุษจีน เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของจีนนั้น เป็นวันที่ 1 เดือน 1 ของจีนตามวันทาง จันท-คติ ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของปี และเป็นวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจีนจะแบ่งเวลา 1 ปี เป็น 4 ฤดูคือ ชุง แห่ ชิว ตัง

วันตรุษจีนจะเป็นวันแรกของฤดูชุง หรือฤดูใบไม้ผลิ ตรงกับเดือนที่ 1,2,3 ของปีเป็นช่วงเวลาที่อากาศดีที่สุด คือ ไม่ร้อน ไม่หนาว และไม่มีฝน วันตรุษจีนจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ” วันชุงเจ๋” เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ โบราณ เมื่อหมดหน้าหนาวที่ทำการเพาะปลูกไม่ได้ มาเข้าฤดูใบไม้ผลิที่อากาศดี จะได้เริ่มต้นทำนา ทำสวน จึงมีการบวงสรวงต่อเทพยดา เซ่นไหว้บรรพบุรุษ อธิษฐานให้ได้พืชผลอุดมสมบูรณ์ ให้กิจการงานก้าวหน้า ตรงนี้น่าจะเป็นที่มาของตำนานการไหว้เจ้าในวันตรุษจีน ที่เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย”

แต่เนื่องจากธรรมเนียม การไหว้วันตรุษจีนจะต่อเนื่องกันมาจากวันไหว้สิ้นปี และมีธรรมเนียม การทำความสะอาดบ้านก่อนหน้าอีกด้วย จึงขออธิบายเป็นเรื่องสืบเนื่องต่อกันว่า การดูวันทางจีนจะเป็นแบบจันทรคติ บางเดือนมี 29 วัน เรียกว่าเดือนสั้น หรือบางเดือนมี 30 วัน เรียกว่าเดือนยาว ทำให้ เดือน 12 ของแต่ละปี บางครั้งก็มี 29 วัน บางปีก็มี 30 วัน แต่คนไทยจะติดเป็นความเคยชินว่า วันสิ้นปีจะเป็น วันที่ 31 แต่ของวันจีนจะไม่ใช่ ตรงนี้ต้องระวัง พอใกล้ ๆ จะถึงสิ้นปี ชาวจีนจะนิยมทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ เรียกว่า ล้างบ้านพานหยากไย่กันแทบทุกซอกมุม

ครั้นพอถึงช่วงเทศกาล จะมีการหยุดงาน หยุดกิจการค้า เพื่อทำพิธีไหว้เจ้าที่ ต้องไหว้ 2 วันซ้อน ซึ่งมีไหว้กลางดึกด้วยนอกจากนี้ก็จะได้ใช้เวลาในช่วงนี้ไปเยี่ยมคารวะผู้ใหญ่ญาติมิตรที่เคารพนับถือและเที่ยว พักผ่อน จึงมีสำนวน “วันจ่าย วันไหว้ วันถือ” ให้ลูกไทยแท้สงสัยว่า วันไหนคือวันไหน

วันจ่าย คือ วันก่อนสิ้นปี 1 วัน ใครจะต้องซื้อหาเตรียมของอะไรแล้วยังไม่เรียบร้อย ก็ให้ทำ ให้เสร็จในวันจ่ายก่อนที่ร้านค้าจะหยุดยาว ซึ่งในวันนี้รถจะติดยาวในย่านเยาวราช เพราะเป็นแหล่งที่ชาวจีนนิยมไปซื้อของไหว้และของใช้อื่น ๆ

วันไหว้ คือ การไหว้ในวันสิ้นปี จะเป็นการไหว้เจ้าที่ในตอนเช้า ตามด้วยการไหว้บรรพบุรุษ ในตอนสาย แล้วไหว้ผีไม่มีญาติในตอนบ่าย ซึ่งการไหว้ผีไม่มีญาตินี้ บางบ้านก็ไม่นิยมไหว้ เช่น ที่บ้านผู้เขียนเอง อาม้าจะไม่ไหว้ผีไม่มีญาติ

การไหว้เจ้า
การไหว้เจ้าเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีน ปฏิบัติสืบทอดกันมาตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง คือ

ไหว้ครั้งแรกของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ ตรุษจีน เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย”
ไหว้ครั้งที่สอง ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า “ง่วงเซียวโจ่ย”
ไหว้ครั้งที่สาม ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย
ไหว้ครั้งที่สี่ ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง
ไหว้ครั้งที่ห้า ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย”
ไหว้ครั้งที่หก ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า “ตงชิวโจ่ย” ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์
ไหว้ครั้งที่เจ็ด ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า “ไหว้ตังโจ่ย”
ไหว้ครั้งที่แปด ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ “ก๊วยนี้โจ่ย”

ส่วนการไหว้วันตรุษจีน เรียกว่า การไหว้วันชิวอิด สำหรับผู้ที่เคร่งธรรมเนียมมาก ๆ จะไหว้ ตามฤกษ์ยามที่ต้องคอยอ่านจาก “แหล่ยิกเท้า” ว่าจะต้องไหว้ “ไช้ซิ้งเอี๊ย” หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภในเวลาอะไร และตั้งโต๊ะไหว้อย่างไร เช่นในปี 2537 ที่ผ่านมา ให้ตั้งโต๊ะไหว้ “ไช้ซิ้งเอี๊ย” ที่หน้าบ้าน ถ้าบ้านมีบริเวณก็ให้ไหว้ที่กลางแจ้ง แล้วหันโต๊ะไหว้ในทางทิศตะวันตก ทำพิธีจุดธูปไหว้ระหว่างเวลา 01.00-03.00 น.

การไหว้ไช้ซิ้งเอี๊ยนี้ เพื่อขอพรท่านให้ครอบครัวของเราโชคดีตลอดปี เมื่อตื่นขึ้นมาในเช้าวันตรุษจีน จึงไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งบางบ้านนิยมไหว้อาหารเจ ส้ม และขนมอี๊ และบางบ้านที่เคร่งธรรมเนียม ผู้ใหญ่จะกินเจ 1 มื้อหรืออาจกินเจทั้งวัน

การจัดของไหว้
ถ้าจัดใหญ่ นิยมเป็นตัวเลข 5 คือ มีของคาว 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวแซ” ประกอบด้วย หมู ไก่ ตับ ปลา และกุ้งมังกร แต่เนื่องจากกุ้งมังกรนั้นแพงและหาไม่ง่าย จึงนิยมไหว้เป็ดหรือปลาหมึกแห้งแทน ของหวาน 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” อาจเป็นซาลาเปาไส้หวาน ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย และขนมจันอับ ผลไม้ 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวก้วย”
ถ้าจัดเล็ก ก็เป็นชุดละ 3 อย่าง มีของคาว 3 อย่างเรียกว่า “ซาแซ” ของหวาน 3 อย่าง เรียกว่า “ซาเปี้ย” ผลไม้ 3 อย่าง เรียกว่า “ซาก้วย” หรือจะมีแค่อย่างเดียวก็ได้

ผลไม้ที่นิยมกันมากที่ใช้ในการไหว้
ผลไม้ไหว้ วันตรุษจีน ส้ม เรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า โชคดี
ผลไม้ไหว้ วันตรุษจีน องุ่น เรียกว่า “พู่ท้อ” แปลว่า งอกงาม
ผลไม้ไหว้ วันตรุษจีน สับปะรด เรียกว่า “อั้งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา
ผลไม้ไหว้ วันตรุษจีน กล้วย มีความหมายถึง การมีลูกหลานสืบสกุล

การจุดเทียนก็เพื่ออวยพรให้ชีวิตรุ่งเรือง
วันถือ คือ วันตรุษจีน โดยถือกันว่าในวันนี้ทุกคนจะพูดและทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล เช่น ไม่มีการพูดว่ากัน แต่จะกล่าวคำอวย พร”ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้” แปลเป็นไทยคือ ขอให้โชคดีปีใหม่นั่นเอง การถืออื่น ๆ ที่นิยมว่าถือกัน เช่น ห้ามจับไม้กวาดกวาดบ้าน เพราะอาจเป็นการกวาดสิ่งดีๆ ในบ้านออกไปแล้วกวาดสิ่งไม่ดี เข้ามา วันถือนี้ บางคนก็เรียกวันเที่ยว ซึ่งคงมาจากธรรมเนียมการแต๊ะเอีย ที่พอลูกหลานและลูกจ้างได้เงินแต๊ะเอีย ที่เปรียบได้กับ โบนัสพิเศษ ก็ไปเที่ยวกัน

อย่างไรก็ตามในวันตรุษจีนถือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ เรียกว่า “ไป๊เจีย”และมีการหิ้วส้มไปแลกเปลี่ยนกัน เพราะส้มนี้มีคำจีนเรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า โชคดี การแลกส้ม จึงมีความนัยว่าเอาความโชคดีมามอบให้แก่กัน พร้อมคำอวยพร โดยนิยมกันว่า เอาส้ม 4 ผล ใส่ผ้า เช็ดหน้าผืนใหญ่มาส่งให้เจ้าบ้าน เจ้าบ้านจะรับไว้แล้วนำส้ม 2 ผล ของแขกขึ้นมาเปลี่ยนเอาส้ม 2 ผล ของที่บ้านผลัดให้แทน บางบ้านที่ใช้ขนมอี๊ไหว้เจ้า ก็อาจมีการเตรียมขนมอี๊ไว้เลี้ยงแขกด้วย

อี๊ คือ ขนมบัวลอยจีน ใช้แป้งข้าวเหนียวนวดจนได้ที่ ผสมสีแดง ซึ่งเป็นสีแห่งมงคล แต่ใส่นิดเดียวพอให้เป็นสีชมพูดูน่ากิน ต้มใส่น้ำเชื่อม ความกลมนุ่มที่เคี้ยวง่ายของขนม มีความหมายว่าให้โชคดี คิดทำสิ่งใดก็ให้ง่ายและราบรื่น

ส่วนธรรมเนียมการแต๊ะเอียนั้น จะมีเฉพาะบ้านที่มีฐานะดี การให้นี้ คือ นายจ้างให้ลูกจ้าง กับให้กันเองในครอบครัวว่าพ่อแม่ให้ลูกหลาน แต่ถ้าลูกได้ทำงานแล้ว หรือออกเรือนแล้ว ก็จะเป็นฝ่ายให้พ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ที่ฐานะดี ก็มักจะแต๊ะเอีย กลับคืนมาในจำนวนที่เท่ากัน หรือเพิ่มให้มากขึ้น ได้แต่จะให้เป็นเงินของพ่อแม่เอง ไม่ใช่เอาเงินที่ลูกให้มานั้นให้กลับคืนมา ส่วนเขย สะใภ้ ตามธรรมเนียมก็ควรให้น้องสามีและน้องภรรยา ส่วนคน ที่มีศักดิ์เป็นลุง ป้า น้า อา ก็ควรมีแต๊ะเอียให้หลาน ๆ เช่นกัน ธรรมเนียมการแต๊ะเอียนี้ ผู้ใหญ่ที่พิถีพิถันจะเอาเงินใส่ซองแดงอย่างมีเคล็ด คือให้เป็น เลขที่ดีที่สุด เรียกว่า “ซี่ลี่” เพราะถือว่าเป็นเลขสิริมงคล ซี่ กับ สี่ คือเลข 4 ซี่สี่ ก็คือ คู่สี่ นั่นเอง

ตัวอย่างการให้แต๊ะเอียเป็นเลข “ซี่สี่” คือ 400 จะเป็นตัวเลข 4 กับแบงก์ร้อย 4 ใบ หรือจะให้เป็น 2 เท่า 3 เท่าของซี่สี่ เช่น 800 , 1200 ก็ได้ อีกเกร็ดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเทศกาลตรุษจีน คือ การเล่นไพ่ โดยเฉพาะการเล่นยี่อิด จะนิยมกันมากผู้ใหญ่หลายท่านถือเอาการเล่นไพ่ ในวันตรุษเป็นเรื่องเสี่ยงทาย ถ้าเล่นได้ก็ถือเป็นเคล็ดว่าตลอดปีใหม่นี้จะเฮงหรือโชคดี และที่พลาดไม่ได้ คือ การติดยันต์แผ่นใหม่ที่หน้าประตูบ้าน เพื่อเป็นสิริมงคลและคุ้มครองภัย