วันปิยมหาราช

วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม

23 ตุลาคมของทุกปี เป็น วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทุกปีจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ที่ พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่าทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือ พระพุทธเจ้าหลวง

เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหา-เศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคม

ส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง 40 ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 นั้น

ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่งในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร 5 ชั้น ประดับโคม ไฟ ราวเทียม กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้ว ได้เสด็จฯไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์

พระราชประวัติ วันปิยมหาราช

พระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฬ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหากุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร” เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระบรมราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2396

ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 3 ผู้ทรงรอบรู้ด้านอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณีอย่างดียิ่ง นอกจากนั้นทรงศึกษาภาษามคธกับพระปริยัติธรรมธาดา(เนียม) เมื่อเป็นหลวงราชาภิรมย์ กรมราชบัณฑิต ทรงศึกษาวิชาการยิ่งปืนไฟจากสำนัก พระยาอภัยศรเพลิง(ศรี) ทรงศึกษาวิชาคชกรรมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และวิชาอื่นๆ อันสมควรแก่บรมราชกุมาร

นอกจากนี้ ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ จากชาวต่างประเทศโดยตรง คือ นางแอนนาเลียวโนแวนส์ ครูสตรีชาวอังกฤษ ต่อมาทรงศึกษากับหมอจันดเล ชาวอเมริกัน และ เมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว พุทธศักราช 2416 ได้ทรงศึกษา ได้ทรงศึกษากับครูชาวอังกฤษ ชื่อฟรานซิส ยอร์จ แพตเตอสัน ต่อมาก็ทรงพระอุตสาหะศึกษาด้วยพระองค์เองจนมี ความรู้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน

ในด้านวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นผู้พระราชทานการฝึกสอนด้วยพระองค์เองตลอดมา

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2411 เหล่าเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ขึ้นเถลิงราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2411 ขณะนั้นทรงพระชนมายุเพียง 14 พรรษา สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ คือ อินเดีย และชวา เพื่อทอดพระเนตรวิทยาการสมัยใหม่ที่ ประเทศทางตะวันตกนำมาเผยแพร่เพื่อนำเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป

เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่นคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

พระราชกรณียกิจ พระปิยมหาราช

ด้านการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน ทรงผสมผสานประเพณีการปกครองของไทยกับต่างประเทศเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ และตั้งสภาองคมนตรี (Privy Council) ต่อมาในปี พ.ศ.2431 ทรงตั้งกรมขึ้นใหม่อีก 6 กรม รวมกับของเดิมเป็น 12 กรม กรมเหล่านี้ต่อมาใน พ.ศ.2435 ทรงให้ยกฐานะเป็นกระทรวง ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๓๗ อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ด้านเศรษฐกิจและการคลัง ในปี พ.ศ.2416 ทรงให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เพื่อเก็บรายได้ของแผ่นดินมารวมไว้แห่งเดียวกัน และให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก ที่สำคัญคือทรงให้แยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกันโดยเด็ดขาด ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก คือ ธนาคารสยามกัมมาจล

ด้านกฎหมายและการศาล ทรงสถาปนากระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ.2434 มีการชำระพระราชกำหนดกฎหมาย มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 เป็นฉบับแรก ทรงสถาปนาโรงเรียนกฎหมายและทรงส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชากฎหมายในทวีปยุโรป เพื่อกลับมาพัฒนากฎหมายไทยต่อมา

ด้านการต่างประเทศ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการเจริญพระราชไมตรี กับนานาประเทศทั่วโลก มีการส่งอัครราชทูตไปประจำต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2424 นอกจากนี้ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในปี พ.ศ.2440 และ พ.ศ.2450 เพื่อนำความเจริญต่างๆ มาปรับปรุงบ้านเมืองให้พัฒนาก้าวหน้าอีกด้วย

ด้านการทหารและการปกครองประเทศ ทรงนำแบบอย่างการวางรูปแบบทางการทหารของชาวยุโรป มาแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมใช้กับประเทศไทย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมการบังคับบัญชาทหารบกและทหารเรือเป็นกรมยุทธนาธิการ นอกจากนี้ ยังทรงให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารขึ้นในปี พ.ศ.2448 มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกเป็นครั้งแรก พระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยทหารบกและโรงเรียนนายเรือ ตลอดจนทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหาร ณ ทวีปยุโรป

ด้านการศึกษา ทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรม มหาราชวังเมื่อปี พ.ศ.2414 แล้วขยายออกสู่ประชาชน โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม ในปี พ.ศ.2427 นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มการจัดตั้งหอพระสมุด พิพิธภัณฑสถานและโบราณคดีสโมสรด้วย

ด้านการศาสนา ในปี พ.ศ.2431โปรดเกล้าฯให้มีการสังคายนาและจัดพิมพ์ พระไตรปิฎกด้วยตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรกและในปี พ.ศ.2445โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์เป็นฉบับแรก นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นวัดประจำรัชกาล อีกด้วย

การเลิกทาส ทรงมีพระราชดำริว่า “การมีทาสเป็นเครื่องถ่วงความเจริญของบ้านเมือง” เพื่อให้ระบบทาสค่อยๆ หายไปจากสังคม จึงเริ่มด้วยการ “พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาสลูกไทย” ขึ้นก่อน หลังจากนั้นทรงโปรดเกล้าฯให้ตรา “พระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ ศก 124” ให้เลิกทาสทั่วพระราชอาณาเขต

การคมนาคมและการสื่อสาร ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างทางรถไฟและตัดถนนขึ้นหลายสาย ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างสะพานเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์เป็นประจำทุกปีในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2438 เป็นต้นมา นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2418 ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดสร้างและดำเนินการการโทรเลขขึ้น โทรเลขสายแรกในประเทศไทย คือ สายกรุงเทพ – สมุทรปราการ

การสาธารณูปโภคและสาธารณสุข ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดสุขาภิบาล เมื่อปี พ.ศ.2440 เรียกว่า“พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116” ในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ.112ได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ จัดตั้งสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดในปัจจุบัน) ขึ้น

ด้านวรรณกรรมและศิลปกรรม ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองอันทรงคุณค่าไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งใหม่ๆ เป็นตึกขึ้นหลายองค์แทนพระที่นั่งเดิมซึ่งทำด้วยไม้และเริ่มผุผัง ที่สำคัญที่สุด คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในปลายรัชกาลทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิต และพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นตึกหินอ่อนขนาดใหญ่ที่เสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๖ อีกด้วย

การเสด็จประพาสต้น เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับ ทรงแต่งพระองค์อย่างสามัญชน เสด็จพระราชดำเนินด้วยรถไฟบ้าง เรือบ้าง เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งของพสกนิกรทั้งปวง จึงได้พร้อมใจกันถวายพระสมัญญานามว่า “พระปิยมหาราช” และร่วมกันออกทุนทรัพย์สร้างพระบรมรูปทรงม้าไว้บริเวณลานพระราชวังดุสิต เพื่อเป็นที่เครารพสักการะอยู่ชั่วนิรันดร์

พระบรมรูปทรงม้า

พระบรมรูปทรงม้า พระปิยมหาราช

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างอนุสาวรีย์ถวายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้ทรงสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และเนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์นานถึง 40 ปี

พระบรมรูปทรงม้านี้ หล่อด้วยโลหะชนิดทองบรอนซ์ พระองค์ใหญ่กว่าขนาดจริงเล็กน้อย ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนอันเป็นแท่นรองสูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 5 เมตร ห่างจากฐานของแท่นออกมามีรั้วเตี้ยๆ ลักษณะเป็นสายโซ่ขึงระหว่างเสาล้อมรอบกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร ที่แท่นด้านหน้ามีคำจารึกบนแผ่นโลหะติดประดับสรรญเสริญว่า “คำจารึกฐานองค์พระบรมรูปทรงม้า ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้ว 2451พรรษา จำเดิมแต่พระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ได้ประดิษฐาน แลดำรงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยาเป็นปีที่ 127 โดยนิยม”

สำหรับแบบรูปของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ได้จ้างช่างหล่อชาวฝรั่งเศส แห่งบริษัทซูซ เซอร์เฟรส ฟองเดอร์เป็นผู้หล่อ ณ กรุงปารีส เลียนแบบพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ประดิษฐานอยู่หน้าพระราชวังแวร์ซายส์ ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2450 พระองค์ได้เสด็จประทับให้ช่างปั้นพระบรมรูป เมื่อวันที่ 22 สิงหคม ศกนั้น พระบรมรูปเสร็จเรียบร้อย และส่งเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ในทางเรือ

เมื่อ พ.ศ.2451 โปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต ระหว่างพระราชวังสวนอัมพรกับบสนามเสือป่า ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปนี้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 ตรงกับวันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครองราชสมบัติได้ 40 ปี

เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้า ขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองที่หน้าพระลานพระราชวังดุสิต ที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบันนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงอ่านคำถวายพระพรชัยมงคล เสร็จแล้วจึงน้อมเกล้าฯ ถวายพระบรมรูปทรงม้า กราบบังคมทูลอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช พระราชบิดาให้ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อประกาศเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้สถิตสถาพรปรากฏสืบไปชั่วกาลนาน

ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น

พ.ศ.2411 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

พ.ศ.2412 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์

พ.ศ.2413 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา, โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย

พ.ศ.2415 ทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่, โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน, โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกขึ้นในพระบรมหาราชวัง

พ.ศ.2416 ทรงออกผนวชตามโบราณราชประเพณี, โปรดให้เลิกประเพณีหมอบคลานในเวลาเข้าเฝ้า

พ.ศ.2417 โปรดให้สร้างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน, ตั้งโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) และให้ใช้อัฐกระดาษแทนเหรียญทองแดง

พ.ศ.2424 เริ่มทดลองใช้โทรศัพท์ครั้งแรก เป็นสายระหว่างกรุงเทพฯ–สมุทรปราการ, สมโภชพระนครครบ 100 ปี มีการฉลอง 7 คืน 7 วัน

พ.ศ.2426 โปรดให้ตั้งกรมไปรษณีย์ เริ่มบริการไปรษณีย์ในพระนคร, ตั้งกรมโทรเลข และเกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่ 2

พ.ศ.2427 โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนราษฎร์ทั่วไปตามวัด โรงเรียนแห่งแรกคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม

พ.ศ.2429 โปรดฯ ให้เลิกตำแหน่งมหาอุปราช ทรงประกาศตั้งตำแหน่งมกุฏราชกุมารขึ้นแทน

พ.ศ.2431 เสียดินแดนแคว้นสิบสองจุไทให้แก่ฝรั่งเศส, เริ่มการทดลองปกครองส่วนกลางใหม่, เปิดโรงพยาบาลศิริราช, โปรดฯให้เลิกรัตนโกสินทร์ศก โดยใช้พุทธศักราชแทน

พ.ศ.2434 ตั้งกระทรวงยุติธรรม, ตั้งกรมรถไฟ เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา

พ.ศ.2436 ทรงเปิดเดินรถไฟสายเอกชน ระหว่างกรุงเทพฯ-ปากน้ำ, กำเนิดสภาอุนาโลมแดง (สภากาชาดไทย)

พ.ศ.2440 ทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก

พ.ศ.2445 เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส

พ.ศ.2448 ตราพระราชบัญญัติยกเลิกการมีทาสโดยสิ้นเชิง

พ.ศ.2451 เปิดพระบรมรูปทรงม้า

พ.ศ.2453 เสด็จสวรรคต

กิจกรรมในวันปิยมหาราช

ในวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ของทุกปี หน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและภาคเอกชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา รวมทั้งประชาชนจะมาวางพวงมาลาดอกไม้สักการะ และถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทำบุญตักบาตอุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในวันปิยมหาราช หน่วยงานและโรงเรียน มหาวิทยาลัย จะจัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นการประกาศเกียรติคุณให้ไพศาลสืบไปและที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือประวัติและความสำคัญของวันปิยมหาราช 23 ตุลาคมของทุกปี

ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ที่หาดูได้ยาก การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2440 เป็นภาพยนตร์ขณะเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งของสวีเดน “วาสะออเดน” ณ ท่าลอการ์ด (Logard) ซึ่งออกไปรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงจากเรือใหญ่ “โอลาสตาร์” ของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียซึ่งให้มาส่งพระพุทธเจ้าหลวง จากรัสเซียแทนเรือของไทยที่ส่งไปซ่อม โดยมีการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติโดยพระเจ้ากรุงสวีเดนและนอร์เวย์ (พระองค์แรกที่ขึ้นจากเรือฉลองพระองค์ชุดทหารสีเข้ม) ซึ่งในครั้งนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร (รัชกาลที่6) โดยเสด็จด้วย (ฉลองพระองค์ชุดทหารสีเข้ม ทรงขึ้นจากเรือต่อจากพระพุทธเจ้าหลวง)

คลิปชัดๆ http://www.youtube.com/watch?v=FhP635c6LLE

ข้อมูล kapook, sanook