วันสิ่งแวดล้อมไทย

วันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม

ความเป็นมา วันสิ่งแวดล้อมไทย
จากปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ตลอดจนปัญหาภาวะมลพิษที่รุนแรง จนถึงขั้นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพร เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2532 ณ ศาลาดุสิดาลัยพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีใจความเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เกิดกับโลกและในประเทศ และได้ตรัสเตือนให้พสกนิกร ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา สิ่งแวดล้อม อย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อประเทศไทยเท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย มีใจความตอนหนึ่งว่า

“วันก่อนนี้เราพูดถึงปัญหาว่า เมืองไทยนี้อีกหน่อยจะแห้ง ไม่มีน้ำเหลือจะต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศซึ่งก็อาจเป็นได้ แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าถ้าคำนวณดูน้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องบริหารให้ดี ถ้าบริหารให้ดีแล้ว มีเหลือเฟือ มีตัวเลขแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ไปแยกแยะตัวเลข เหมือนที่ได้แยกแยะตัวเลขของคาร์บอน น้ำนั้นน่ะ ในโลกมีมากแล้วที่ใช้จริงๆ มันเป็นเศษหนึ่งส่วนหมื่นของน้ำที่มีอยู่ อาจไม่ถึง ก็ต้องบริหารให้ดีเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ น้ำนี้จะต้องใช้ให้ดี คือ น้ำนั้นมีคุณอย่างที่เราใช้สำหรับบริโภค น้ำสำหรับการเกษตร น้ำสำหรับอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ต้องใช้น้ำที่ดี หมายความว่าน้ำที่สะอาด

น้ำมีมากในโลก เป็นน้ำทะเลส่วนใหญ่ซึ่งจะใช้อย่างนี้ไม่ได้แล้ว นอกจากนั้นเดี๋ยวนี้ที่กำลังมีมากขึ้นก็คือ น้ำเน่า จะต้องป้องกันไม่ให้มีน้ำเน่า น้ำเน่าจะมีอยู่เสมอ แต่อย่าให้น้ำเน่านั้นเป็นโทษมากเกินไป ฉะนั้น นี่เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราจะต้องปฏิบัติ แล้วก็ถ้าไม่จัดการโดยเร็วเราจะนอนอยู่ในน้ำเน่า น้ำดีจะไม่มีใช้แม้จะไปซื้อน้ำจากต่างประเทศมา ก็กลายเป็นน้ำเน่าหมด เพราะว่าเอามาใช้โดยไม่ได้ระมัดระวัง

ถ้าเรามีน้ำแล้วมาใช้อย่างระมัดระวังข้อหนึ่ง และควบคุมน้ำที่เสียอย่างดีอีกข้อหนึ่ง ก็อยู่ได้ เพราะว่าภูมิประเทศของประเทศไทย “ยังให้” ใช้คำว่า “ยังให้” ก็หมายความว่า ยังเหมาะแก่การอยู่กินในประเทศนี้ ไม่ใช่ไม่เหมาะ ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาเอาไว้ไม่ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทรายก็ป้องกันได้ ทำได้”

จากพระราชดำรัสดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มของการ เคลื่อนไหวในการดำเนินงาน เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานของรัฐ และเอกชน ในการสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางสังคม เพื่อสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม ในส่วนของภาครัฐได้ให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาเป็นอันดับแรก โดยได้ดำเนินการจัดกิจกรรมและรณรงค์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง สำหรับภาคเอกชนได้เริ่ม ให้ความสำคัญ เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยมีการคำนึงถึงเรื่องผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนกระบวนการผลิตต่าง ๆ โดยมีการริเริ่มโครงการอนุรักษ์ และพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ต่อชุมชน และสังคมส่วนรวม ของประเทศตลอดจนได้มี การจัดตั้งองค์กรใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นในรูปของมูลนิธิ ชมรม สมาคม เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินงานการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อันแสดงให้เห็นถึงการรวมพลัง ของประเทศเพื่อร่วมกันพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ดังนั้น คณะรัฐมนตรี ได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 มีมติเห็นชอบให้ วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการให้ความร่วมมือ ในการดำเนินการด้วย

กิจกรรม วันสิ่งแวดล้อมไทย
กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการส่งเสริม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการเสริมสร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันดูแลอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดนิทรรศการ การเสวนาและเปลี่ยนความคิดเห็น การจัดนิทรรศการ การประกวดภาพวาด และโครงการอื่นๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อย่างต่อเนื่องกันมาโดยตลอดใน 10 ปีที่ผ่านมา

อ้างอิง
– 4 ธันวาคม วันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่ออนาคตสิ่งแวดล้อมไทย. มติชน. : ( 4 ธ.ค. 43) หน้า 16
– วรนุช อุษณกร.ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์,๒๕๔๓
tlcthai.com