วันเอดส์โลก

วันเอดส์โลก 1 ธันวาคม ของทุกปี

วันเอดส์โลก (World AIDS Day) วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี ได้ถูกตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ ซึ่งได้คร่าชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ไปกว่า 25 ล้านคนแล้วทั่วโลก

โรคเอดส์เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 โดยการก่อตัวขึ้นในบางส่วนของโลกและเป็นอยู่ในหมู่ชนบางกลุ่มเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการตรวจพบโรคนี้ทั่วโลก และอัตราผู้ป่วยโรคเอดส์เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา

สำหรับในประเทศไทย นับตั้งแต่เริ่มมีโรคเอดส์เกิดขึ้นในประเทศตามรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 จนถึงปี พ.ศ. 2533 จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเอดส์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้รัฐบาลจะประกาศเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบให้มีคณะกรรมการประสานงานเกี่ยวกับโรคเอดส์แห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน

กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายและแผนการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ระดับชาติสำหรับปี 2531-2534 เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคเอดส์ลดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ให้มีการประสานและร่วมมือกันระหว่างองค์การทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน แต่สถานการณ์ของโรคกลับแพร่กระจาย มากขึ้นและกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ เป็นที่เข้าใจกันว่าโรคนี้เกิดเฉพาะในกลุ่มชายรักร่วมเพศ กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดที่ใช้เข็มฉีดยาเข้าเส้นร่วมกัน และกลุ่มที่มีความสำส่อนทางเพศ แต่ในปัจจุบันโรคนี้ได้แพร่กระจายเข้าไปในกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น ผู้ที่ได้รับการบริจาคเลือดหรืออวัยวะที่มีเชื้อโรคเอดส์ ทารกในครรภ์มารดาที่ติดเชื้อเอดส์ และยังกระจายไปยังกลุ่มเยาวชน และผู้หญิงอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลกของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) ไว้ว่าในปี พ.ศ. 2526 ทั่วโลกมีผู้เป็นเอดส์ทั้งสิ้น กว่า ๓๘ ล้านคน

โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อโรคเอดส์นี้ เป็นผู้ใหญ่ประมาณ 31 ล้านคน เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อีก 7 ล้านคน ในปีเดียวกันทั่วโลก มีผู้ป่วยโรคเอดส์ตายไปกว่า ๓ ล้านคน อีกทั้งข้อมูลขอองยูเอ็นเอดส์ยังระบุอีกว่า ตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา มีผู้หญิง เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวี มากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะผู้หญิงในเอเชียตะวันออก มีอัตราของการติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 56 รองลงมาคือ ผู้หญิงในยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี (ยังไม่ป่วยเป็นโรคเอดส์) สูงถึง 39.4 ล้านคน เทียบกับเมื่อปี 2545 มีเพียง 36.6 ล้านคน และปี 2546 มีอยู่แค่ 38 ล้านคน

ปัจจุบันทวีปเอเชีย มีอัตราเพิ่มของผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วโลก โดยในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นประเทศต้นๆที่ได้รับเชื้อเพิ่ม เฉพาะรัสเซียประเทศเดียว ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ต่ำกว่า 860,000 คน

ในบรรดาผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก เกือบ 40 ล้านคน ผู้ติดเชื้อประมาณ ๓๗ ล้านคน มีอายุระหว่าง 15-49 ปี ในจำนวนนี้เป็น เพศหญิง เกือบครึ่ง โดยเฉพาะผู้หญิงทั่วโลก ที่อยู่ในวัยตั้งแต่ 15-24 ปี กลายเป็นเหยื่อเอดส์รายใหม่ เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 60 และเยาวชนหญิง วัยระหว่าง 15-19 ปี เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ ร้อยละ 56 มีรายงานว่า เฉพาะทวีปแอฟริกา แถบทะเลทรายซาฮารา พบการติดเชื้อเอชไอวีในผู้หญิงสูงถึง 13.3 ล้านคน

ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ตระหนักถึงอันตรายจากการติดต่อ และการป่วยเป็นโรคนี้จึงได้มีการพยายามหามาตรการเพื่อป้องกันและหยุดยั้งโรคเอดส์ให้เป็นผลสำเร็จ

องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2531 เป็นปีแรก โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ คือ

1. เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการติดต่อและการเจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์

2. เพื่อสร้างเสริมและสนับสนุนให้มีมาตรการการป้องกันให้มากยิ่งขึ้นในสังคมทุกระดับ

3. เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

4. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ

5. เพื่อเผลแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

การจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันเอดส์โลก จะเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนได้ให้ความเห็นใจและห่วงใยต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ตลอดจนให้ทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ อันจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้การขยายตัวของโรคนี้ลดน้อยลง

โรคเอดส์
เชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ เป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์ชาติไปมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก เพียงช่วงแรกของการแพร่ระบาดได้มีผู้ติดเชื้อไปถึง 62 ล้านคน

HIV ย่อมาจาก human Immunodeficiency Virus เชื้อไวรัสนี้เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ โดยเชื้อเอชไอวีจะเข้าทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ให้ต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆที่เข้ามาในร่างกายเวลาที่เราเจ็บป่วย

AIDS ย่อมาจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome (โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง) โรคเอดส์จะเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกเชื้อเอชไอวีบั่นทอนให้อ่อนแอลง จนถึงขั้นที่ร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคต่างๆได้อีก จนเริ่มติดเชื้อ หรือเกิดเป็นโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง เป็นต้น

โรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome) AIDS

A = Acquired หมายถึง ภาวะที่เกิดขึ้นภายหลังไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด หรือไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
I = Immune หมายถึง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
D = Deficiency หมายถึง ความบกพร่อง ความเสื่อม
S = Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการของโรค ซึ่งมีอาการหลายลักษณะตามระบบต่าง ของร่างกาย

โรคเอดส์ติดต่อกันได้โดย

เมื่อเชื้อไวรัสเอชไอวี(เชื้อเอดส์) เข้าไปในร่างกายจะเข้าไปจับที่เม็ดเลือดขาว ซึ่งเม็ดเลือดขาวจะกระจายอยู่ในกระแสเลือด,น้ำอสุจิ,น้ำในช่องคลอด การที่คนเราจะได้รับเชื้อเอชไอวี หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า “ติดเอดส์”ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะติดกันได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน หากต้องมีช่องทางการติดที่เฉพาะจริงๆ เท่านั้น โดยมีข้อสังเกตง่ายๆ ว่า

ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างครบถ้วน จึงจะมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเชื้อ คือ
1. ต้องได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี เข้าสู่ร่างกาย โดยต้องมาจากแหล่งที่มีปริมาณเชื้อมากพอที่จะทำให้ติด ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด

2. เชื้อที่จะทำให้ติดต่อได้นอกจากเรื่องปริมาณแล้วเชื้อต้องมีคุณภาพและแข็งแรง เช่น ในเลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด มีอาหาร มีสภาพที่พอเหมาะที่จะทำให้เชื้อเติบโตได้แต่ถ้าไปอยู่ในน้ำลาย น้ำตาเชื้อไวรัสจะอยู่ในสภาพที่เป็นกรด เป็นด่าง ทำให้มันไม่แข็งแรง ไม่มีคุณภาพ เติบโตไม่ได้ หมดความสามารถที่จะทำให้ติดต่อได้

3. ต้องเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการสัมผัส ส่งต่อเชื้อได้โดยตรง เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน หรือการร่วมเพศ ซึ่งเป็นการส่งต่อเชื้อกันโดยตรง เช่นในกรณีการร่วมเพศ ถ้าฝ่ายชายมีเชื้ออยู่เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุช่องคลอด หรือถ้าผู้หญิงมีเชื้ออยู่ เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางปลายเปิดของ องคชาติ คนส่วนใหญ่จะกังวลกับการติดเอดส์ จากช่องทางที่มีโอกาสเสี่ยงน้อยมากๆ เช่นการช่วยคนประสบอุบัติเหตุ การสัมผัสกับเลือด ตามแต่จะสมมติกัน แต่มักจะไม่คิดถึงช่องทางที่ทำให้ติดเอดส์จากวิถีชีวิต และพฤติกรรมทางเพศที่กระทำอยู่เป็นประจำ ทั้งที่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีติดจากการมีเพศสัมพันธ์ ที่ไม่ได้ป้องกัน และคุณจำเป็นต้องรู้ว่าจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร ด้วยตัวคุณเอง

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ โรคเอดส์

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โรคเอดส์ หรือ HIV ได้แก่

1. ผู้สำส่อนทางเพศ หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อเอดส์ หรือกลุ่มรักร่วมเพศ โดยจากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 84 ของผู้ติดเชื้อเอดส์ จะได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์

2. ผู้ติดยาเสพติด โดยใช้กระบอกฉีดยา หรือเข็มฉีดยาเดียวกันกับผู้ป่วย โรคเอดส์

3. ผู้ที่ได้รับเลือด หรือผลิตภัณฑ์จากเลือด เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ หรือรับเลือดในขณะผ่าตัด

4. ทารกติดเชื้อเอดส์จากมารดาที่มีเชื้อ HIV โดยมารดาจะแพร่เชื้อเอดส์ไปสู่ลูกในครรภ์

การตรวจหาเชื้อในเลือด
ทำได้โดยการตรวจเลือด หรือตรวจของเหลวในช่องปาก ถ้าพบสารแอนติบอดีของเชื้อเอชไอวีในเลือดหรือของเชื้อไอวีในเลือดหรือของเหลวดังกล่าว แปลว่าบุคคลนั้นมีค่าเอชไอวีเลือดเป็นบวก (แอนติบอดีเป็นโปรตีนที่ร่างกายผลิตออกมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ป้องกันการติดเชื้อและการอักเสบต่างๆ) ปัจจุบันนี้ การตรวจหาหาเชื้อเอชวีที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยนำของเหลวในช่องปากที่ไม่ใช่น้ำลายมาเป็นตัวอย่างในการตรวจ

ความเข้าใจผิดต่อโรคเอส์ (เอชไอวี)
1. ประสบการณ์และการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากว่า 20 ปี แสดงให้เห็นว่า เชื้อเอชไอวี ไม่สามารถแพร่สู่กันได้โดยการติดต่อในชีวิตประจำวันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการกอด การสัมผัสมือที่เป็นการทักทายแบบชาวตะวันตก หรือการปฏิสัมพันธ์ภายนอกอื่น ยกตัวอย่างเช่น การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การใช้เตียงนอนร่วมกัน การใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารหรือรถแท็กซี่ร่วมกัน

2. เอชไอวีไม่ใช่โรคติดต่อทางอากาศ เหมือนกับไข้หวัด และไม่ติดต่อผ่านทางแมลง เช่นยุง

3. โดยทั่วไปแล้ว เชื้อเอชไอวีติดต่อกันได้ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยที่มีการแลกเปลี่ยนของเหลวในร่างกาย ตัวอย่างเช่น อสุจิ เลือดหรือของเหลวในช่องคลอด นอกจากนี้ เชื้อเอชไอวียังสามารถติดต่อผ่านทางการใช้เข็มหรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกันของผู้ใช้ยาเสพติด ขณะที่ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถแพร่เชื้อไปสู่ลูกได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

4. การป้องกันที่ไม่จำเป็น ตัวอย่างเช่น การสวมที่ปิดจมูกหรือการสวมถุงมือ หรือการจัดสถานที่สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ที่มาพักในโรงแรม การให้พักหรือรับประทานอาหารในบริเวณที่แยกจากแขกกลุ่มอื่นเป็น สิ่งที่ไม่จำเป็นอย่างสิ้นเชิง การกระทำดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติและต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น

ระยะของโรคเอดส์

เมื่อติดเชื้อเอดส์แล้ว จะแบ่งช่วงอาการออกเป็น 3 ระยะ คือ

1.ระยะไม่ปรากฎอาการ (Asymptomatic stage) หรือระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ออกมา จึงดูเหมือนคนมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติ แต่อาจจะเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ จากระยะแรกเข้าสู่ระยะต่อไปโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 7-8 ปี แต่บางคนอาจไม่มีอาการนานถึง 10 ปี จึงทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อต่อไปให้กับบุคคลอื่นได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ

2.ระยะมีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (Aids Related Complex หรือ ARC) หรือระยะเริ่มปรากฎอาการ (Symptomatic HIV Infection) ในระยะนี้จะตรวจพบผลเลือดบวก และมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในเห็น เช่น มีไข้สูงเกิน 37.8 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานานไม่ต่ำกว่า 3 เดือน, น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 4.5 กิโลกรัม หรือมากว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเดิมภายใน 2 เดือน ,ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน , มีเชื้อราในปากบริเวณกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก ,เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม และมีอาการเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ น้ำหนักลด เป็นต้น ระยะนี้อาจเป็นอยู่นานเป็นปีก่อนจะกลายเป็นเอดส์ระยะเต็มขึ้นต่อไป

3.ระยะเอดส์เต็มขั้น (Full Blown AIDS) หรือ ระยะโรคเอดส์ ในระยะนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปมาก ทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย หรือที่เรียกว่า “โรคติดเชื้อฉวยโอกาส” ซึ่งมีหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะติดเชื้อชนิดใด และเกิดที่ส่วนใดของร่างกาย หากเป็นวัณโรคที่ปอด จะมีอาการไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ Cryptococcus จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็ง คลื่นไส้อาเจียน หากเป็นโรคเอดส์ของระบบประสาทก็จะมีอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรงเป็นต้น ส่วนใหญ่เมื่อผู้เป็นเอดส์เข้าสู่ระยะสุดท้ายนี้แล้วโดยทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1-2 ปี

ยารักษาโรคเอดส์

ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ มีแต่เพียงยาที่ใช้เพื่อยับยั้ง และบรรเทาไม่ให้ไวรัสเอดส์เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อเอดส์ให้หมดไปจากร่างกายได้ ยาต้านไวรัสเอดส์ในปัจจุบันมี 3 ประเภทคือ

1.Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) ได้แก่ AZT ddl ddC d4T 3TC ABC รับประทานยาต้านไวรัสเอดส์

2.Non-Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NNRTIs) ได้แก่ NVP EFV

3.Protease Inhibitors (Pls) ได้แก่ IDV RTV Q4V NFV

หากรับประทานยาต้านไวรัสเอดส์แล้ว อาจมีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้อาเจียน มีผื่นตามผิวหนัง โลหิตจาง ฯลฯ ดังนั้นการรับประทานยาเหล่านี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

การป้องกันตัวเองจาก โรคเอดส์
1. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์
2. รักเดียว ใจเดียว
3. ก่อนแต่งงาน หรือมีบุตร ควรตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และขอรับคำปรึกษาเรื่อง โรคเอดส์ จากแพทย์ก่อน
4. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดใช้สารเสพติดทุกชนิด

สัญลักษณ์ วันเอดส์โลก
สัญลักษณ์ของ วันเอดส์โลก คือ โบว์สีแดง (Red Ribbon) เป็นสัญลักษณ์ของวันเอดส์โลก ที่ใช้กันทั่วโลก เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี โพซิทีฟ (HIV-positive) กับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเอดส์ทั้งหลาย

คลิปวีดีโอ ความรู้เรื่องโรคเอดส์

ข้อมูล สนุก, กระปุก